Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงทางการเงินของตลาดพันธบัตรรัฐบาลในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยอาศัยแบบจำลอง Cointegration เพื่อแสดงความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพระยะยาวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย และใช้แบบจำลอง Error Correction Model(ECM) เพื่อแสดงการปรับตัวในระยะสั้นเข้าสู่ดุลยภาพในระยะยาว ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลรายวันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลใน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง โดยจะพิจารณาพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไถ่ถอน 1 ปี 3ปี 5ปี และ10ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคมปี 2002 ถึง วันที่ 30 มีนาคมปี 2007 ผลการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาว กล่าวคือมีความเชื่อมโยงทางการเงินในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไถ่ถอน 1 ปี และ 10 ปี อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาไม่พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาว หรือไม่มีความเชื่อมโยงทางการเงินในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไถ่ถอน 3 ปีและ 5 ปี ในส่วนของผลการศึกษาการปรับตัวระยะสั้นโดยแบบจำลอง ECM ในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไถ่ถอน 1 และ10 ปี พบว่า การปรับตัวระยะสั้นในการเข้าสู่ดุลยภาพระยะยาวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียยังมีการปรับตัวที่ค่อนข้างช้า