Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของค่าจ้างต่ออุปทานแรงงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจพฤติกรรมที่แตกต่างกันของลูกจ้างแต่ละประเภทอาชีพและบางสาขาอาชีพที่คาดว่าจะขาดแคลนแรงงาน เปรียบเทียบระหว่างลูกจ้างเพศชายที่สมรสแล้วกับลูกจ้างเพศหญิงที่สมรสแล้ว จนกระทั่งได้ผลลัพธ์เป็นค่าความยืดหยุ่นของชั่วโมงทำงานของลูกจ้างแต่ละอาชีพเมื่อค่าจ้างเปลี่ยนแปลงไป ผลการศึกษาโดยใช้วิธีประมาณค่าสมการถดถอย Heckman Two-step Estimator พบว่า ค่าความยืดหยุ่นของชั่วโมงทำงานต่อค่าจ้างในลูกจ้างเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน นั่นคือ ลูกจ้างหญิงที่สมรสแล้วแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ค่าความยืดหยุ่นของชั่วโมงทำงานต่อค่าจ้างน้อย ได้แก่ลูกจ้างหญิงอาชีพที่ 1 ผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้จัดการ (-0.037) อาชีพที่ 2 ผู้ประกอบอาชีพที่ใช้วิชาชีพด้านต่างๆ (0.034) อาชีพที่ 3 ช่างเทคนิคสาขาต่างๆและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (0.64) อาชีพที่ 4 เสมียน (0.45) อาชีพที่ 5 พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้าในร้านและตลาด (0.31) และกลุ่มที่ค่าความยืดหยุ่นของชั่วโมงทำงานต่อค่าจ้างมาก ได้แก่ ลูกจ้างหญิงอาชีพที่ 6 ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมง (1.38) อาชีพที่ 7 ผู้ปฏิบัติงานในธุรกิจด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (1.50) อาชีพที่ 8 ผู้ปฏิบัติการเครื่องจักรโรงงานและเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ (1.42) อาชีพที่ 9 อาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ (1.31) ขณะที่ค่าความยืดหยุ่นของชั่วโมงทำงานต่อค่าจ้างน้อยในลูกจ้างชายที่สมรสแล้วทุกอาชีพ สำหรับอาชีพที่คาดว่าจะขาดแคลนแรงงาน พบว่า ค่าความยืดหยุ่นของค่าจ้างในลูกจ้างหญิงมาก นั่นคือ อาชีพพนักงานเสิร์ฟฯ (1.324 ) และ อาชีพด้านการทำความสะอาด (1.412) ส่วนลูกจ้างชายมีความยืดหยุ่นน้อย นั่นคือ อาชีพช่างเทคนิคฯ (0.13) อาชีพพนักงานเสิร์ฟฯ (0.22) อาชีพด้านการทำความสะอาด (0.55) และ อาชีพวิศวกร (-0.03) จากผลการศึกษา จึงเสนอให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอาชีพที่ขาดแคลนแรงงาน (ยกเว้นวิศวกร) เพราะลูกจ้างทั้งเพศหญิงและเพศชายต่างมีแนวโน้มว่าจะทำงานเพิ่มขึ้นหากค่าจ้างเพิ่มขึ้น