Abstract:
การศึกษากลุ่มลูกสุกรดูดนมสภาพร่างกายป่วยโทรมที่มีอายุระหว่าง 14-25 วัน และกลุ่มสุกรอนุบาลป่วยโทรมที่มีอายุระหว่าง 6-8 สัปดาห์ โดยการสุ่มเฉพาะลูกสุกรที่มีการป่วยด้วยอาการผ่ายผอม ไม่กินอาหาร มีไข้ ขนลุกฟู ขนยาวหยาบกร้าน ตัวซีด หยุดโตและทรุดโทรม ทำการเก็บตัวอย่างซีรั่มและผ่าซากเพื่อเก็บอวัยวะต่างๆ นำมาตรวจด้วยวิธีการพีซีอาร์ เพื่อหาไวรัสเซอร์โคไทป์สอง ไวรัสพีอาร์อาร์เอส และไวรัสอหิวาต์สุกร ในจำนวนฟาร์มที่ศึกษาครั้งนี้ 10 ฟาร์ม และฟาร์มศึกษาควบคุม case control farm อีกหนึ่งฟาร์ม รวมเป็น 11 ฟาร์ม จำนวนลูกสุกรดูดนมป่วยโทรมที่ผ่าซาก 59 ตัว และสุกรอนุบาลป่วยโทรมที่ผ่าซาก 67 ตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 126 ตัว จากจำนวน 10 ฟาร์มที่ศึกษา ผลการตรวจพีซีอาร์จากตัวอย่างซีรั่มรวมจากลูกสุกรดูดนมป่วยโทรมของแต่ละฟาร์ม ไม่พบไวรัสเซอร์โคไทป์สองในซีรั่ม พบไวรัสพีอาร์อาร์เอส 20% และพบไวรัสอหิวาต์สุกร 10% ส่วนผลการตรวจพีซีอาร์จากตัวอย่างอวัยวะรวม พบไวรัสเซอร์โคไทป์สอง 10% พบไวรัสพีอาร์อาร์เอส 20% และพบไวรัสอหิวาต์สุกร 10% สำหรับกลุ่มสุกรอนุบาลป่วยโทรม ผลการตรวจพีซีอาร์จากตัวอย่างซีรั่มรวม พบไวรัสเซอร์โคไทป์สอง 50% พบไวรัสพีอาร์อาร์เอส 80% และพบไวรัสอหิวาต์สุกร 30% ส่วนผลการตรวจพีซีอาร์ตัวอย่างอวัยวะรวม พบไวรัสเซอร์โคไทป์สอง 50% ไวรัสพีอาร์อาร์เอส 70% และไวรัสอหิวาต์สุกร 40%
ไวรัสทั้งสามชนิดถูกตรวจพบด้วยความถี่ที่สูงมากในกลุ่มสุกรป่วยของภาคอนุบาล จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียที่มักพบสูงมากของฟาร์มทั่วไปในปัจจุบัน ที่มีประวัติพบกลุ่มอาการป่วยโทรมหลายระบบหลังหย่านม (PMWS) โดยมีจุดเริ่มต้นของการติดโรคไวรัสทั้งสามแล้วตั้งแต่ในห้องคลอด โรคพีอาร์อาร์เอสยังเป็นปัญหาใหญ่สุด การตรวจวินิจฉัยโดยการเก็บตัวอย่างซีรั่มจากสุกรป่วยหลายตัวมารวมกัน เพื่อตรวจพีซีอาร์กับโรคพีอาร์อาร์เอสยังเป็นวิธีที่ได้ผลดี การตรวจวินิจฉัยโดยใช้ซีรั่มไม่แม่นยำทั้งหมดหากเป็นกรณีของโรคเซอร์โคไวรัสไทป์สอง เมื่อต้องการศึกษาเปรียบกับการใช้อวัยวะเป้าหมายเก็บจากการผ่าซาก ส่วนภาวะโรคอหิวาต์สุกรที่ให้ผลบวกในจำนวนหนึ่งนั้น แสดงถึงการหวนกลับมาพบสูงขึ้นในระบบฟาร์มที่น่าจะมีภาวะแฝงโรคอยู่ในฝูงสุกรแม่พันธุ์ ขณะที่ผลการตรวจพีซีอาร์ต่อไวรัสเซอร์โคไทป์สองจากตัวอย่างอวัยวะต่างๆ ที่แยกตรวจ 8 อวัยวะ (35 pools) โอกาสตรวจพบไวรัสเซอร์โคไทป์สองพบว่าเพิ่มสูงขึ้นในลูกสุกรดูดนมป่วยโทรมสูงขึ้นเป็น 50% และโอกาสตรวจพบไวรัสเซอร์โคไทป์สองเพิ่มสูงขึ้นในสุกรอนุบาลป่วยโทรมสูงเป็น 60% โดยมี 2 ฟาร์มที่พบไวรัสทั้งในลูกสุกรดูดนมและสุกรอนุบาล ขณะที่อีก 2 ฟาร์ม พบเฉพาะในลูกสุกรดูดนม กับอีก 2 ฟาร์มที่พบเฉพาะในสุกรอนุบาล ในจำนวน 6 จาก 10 ฟาร์มที่ตรวจพบไวรัสเซอร์โคไทป์สอง (24 pools) พบผลบวก 58.33% ของตัวอย่างอวัยวะต่างๆ ที่ตรวจ (14/24 pools) อวัยวะที่ตรวจพบไวรัสเซอร์โคไทป์สอง ได้มากสุดคือ ท็อนซิลและไต หากคิดเป็นความถี่ตัวอย่างอวัยวะที่ให้ผลบวก โอกาสพบสูงเรียงตามลำดับคือ ที่ท็อนซิล 50% ไต 41.66% กลุ่มต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง 25% กลุ่มต่อมน้ำเหลืองในระบบทางเดินหายใจ 16.66% ต่อมน้ำเหลืองพวงลำไส้ 16.66% ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ 12.50% ที่เหลือคือที่ปอดพบเพียงตัวอย่างเดียว (4.16%) และที่ม้ามตรวจไม่พบเลย ม้ามจึงอาจจะไม่ใช่อวัยวะเป้าหมายของไวรัสเซอร์โคไทป์สอง