Abstract:
จากข้อบกพร่องต่างๆ ของการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดินในปัจจุบันของประเทศไทย เป็นผลให้มีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบภาษีทรัพย์สิน โดยมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีในอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท และใช้ราคาทุนทรัพย์เป็นฐานภาษี วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงจะศึกษาเน้นหลักไปที่การศึกษาภาษีทรัพย์สินทั้งสองประเภท โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกศึกษาภาระภาษีทรัพย์สินในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์อัตราภาษีเฉลี่ยต่อรายได้ทั้งหมดในการศึกษาโครงสร้างภาษีตามชั้นรายได้ ส่วนที่สองจะศึกษาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะใช้วิธีการวิเคราะห์อัตราภาษีเฉลี่ยต่อรายได้ทั้งหมดและการคำนวณหา Concentration index เพื่อวิเคราะห์ความก้าวหน้าทางภาษี ส่วนที่สาม เป็นการวิเคราะห์มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ครัวเรือนถือครอง ซึ่งจะประเมินหามูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ครัวเรือนใช้ทำการเกษตร การพาณิชย์ และเป็นที่อยู่อาศัย และท้ายที่สุดศึกษาปัจจัยในการกำหนดการชำระภาษีทรัพย์สินในปัจจุบันของประเทศไทย โดยการศึกษาทั้งหมดนี้จะใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้นเลือกใช้ข้อมูลในปี พ.ศ. 2529, 2537 และ 2547 เป็นหลักในการศึกษา
จากการศึกษาพบว่า ภาษีทรัพย์สินในปัจจุบันก่อให้เกิดภาระภาษีที่เพิ่มมากขึ้นแก่ครัวเรือนตลอดช่วงเวลาจากปี พ.ศ. 2529-2547 โดยอัตราภาษีเฉลี่ยต่อรายได้อยู่ที่ประมาน 0.2% และพบว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความก้าวหน้าเช่นเดียวกันกับภาษีทรัพย์สินในปัจจุบัน และการจัดเก็บภาษีจากที่อยู่อาศัยมีส่วนสำคัญในการเพิ่มภาระภาษีทรัพย์สิน เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีทรัพย์สินปัจจุบัน โดยภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของครัวเรือนเมื่อเปรียบเทียบกับรายสัดส่วนที่อยู่ที่ระหว่าง 0.1056% ถึง 0.5280% (โครงสร้างภาษีที่ 1-3) และท้ายที่สุดพบว่า รายได้ทางการเกษตรและรายได้จากทรัพย์สินของครัวเรือน เป็นผลทำให้ความน่าจะเป็นในการชำระภาษีทรัพย์สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้น