Abstract:
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ลักษณะทางประชากรอันได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ มีความสัมพันธ์กับระดับการรับรู้ผลการสำรวจประชามติที่มีลักษณะเป็นการพยากรณ์ หรือการทำนายผลการเลือกตั้งในประเด็นต่างๆ หรือไม่ อย่างไร และเพื่อศึกษาว่า การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ผลการสำรวจประชามติที่มีลักษณะเป็นการพยากรณ์หรือการทำนายผลการเลือกตั้งในประเด็นต่างๆ นั้น จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง ในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ การวิจัยเรื่องนี้ ใช้วิธีการวิจัยแบบสำรวจโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 500 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จากการศึกษาวิจัยพบว่า ลักษณะทางประชากรอันได้แก่ เพศ และอายุ ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับการรับรู้ผลการสำรวจประชามติ ลักษณะทางประชากรอันได้ไก่ ระดับการศึกษา และอาชีพ มีความสัมพันธ์กับระดับการรับรู้ผลการสำรวจประชามติ โดยผู้ที่มีการศึกษาระดับสูง จะมีระดับการรับรู้ ผลการสำรวจประชามติสูงกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า และผู้มีอาชีพต่างๆ มีระดับการรับรู้ผลการสำรวจประชามติแตกต่างกันไปตามกลุ่มอาชีพ โดยผู้มีอาชีพรับราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความถี่ในการรับรู้ผลการสำรวจประชามติและมีความสนใจที่จะรับรู้ผลการสำรวจประชามติสูงที่สุด ผู้มีอาชีพค้าขายเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเชื่อถือผลการสำรวจประชามติสูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าการรับรู้ผลการสำรวจประชามติที่มีลักษณะเป็นการพยากรณ์หรือการทำนายผลการเลือกตั้งในประเด็นต่างๆ ไม่ได้มีอิทธิพลทำให้ผู้รับรู้ผลการสำรวจประชามติดังกล่าว เปลี่ยนทัศนคติของตนในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างใด