Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการศึกษาในสาขาวิชาศิลปศึกษาของนักศึกษาวิชาเอกศิลปศึกษา หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 2 ปี ในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในด้านสาเหตุที่เลือกเข้าศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา การเรียนการสอนในสาขาวิชาศิลปศึกษา และแนวโน้มในการประกอบอาชีพ และการศึกษาต่อ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ที่กำลังเรียนเป็นปีสุดท้ายของหลักสูตร ประจำปีการศึกษา 2532 จำนวน 112 คน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วยแบบตรวจสอบรายการ แบบประเมินค่า และแบบปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของนักศึกษาโดยใช้การทดสอบค่าที ผลของการวิจัยพบว่า นักศึกษาสาขาศิลปศึกษา หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 2 ปี มีความคิดเห็นในด้านสาเหตุที่เลือกเข้าศึกษาในสาขาศิลปศึกษา และการเรียนการสอนในสาขาวิชาศิลปศึกษา ไม่แตกต่างกัน ยกเว้น ด้านแนวโน้มในการประกอบอาชีพ ที่นักศึกษามีความคิดเห็นแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในแบบสอบถามปลายเปิด มีข้อเสนอแนะสำคัญที่พอสรุปได้ดังนี้ คือ อาจารย์ควรมีความยุติธรรม ยอมรับความคิดเห็นของนักศึกษา และส่งเสริมการทำงานและการแสดงออก วิธีการสอนของอาจารย์ควรปรับปรุงให้น่าสนใจและทันสมัยอยู่เสมอ ในด้านหลักสูตรควรเพิ่มเวลาเรียนในการปฏิบัติงาน และเพิ่มวิชาบังคับศิลปะ ควรเพิ่มรายวิชาเลือกที่ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันและที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัด ความสามารถ ความสนใจ และควรเชิญอาจารย์พิเศษที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชามาสอน ในด้านเนื้อหาของหลักสูตรควรเน้นภาคปฏิบัติให้มากขึ้น เพื่อนักศึกษาจะได้มีประสบการณ์ตรง และควรให้ข้อมูลในการศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพแก่นักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา