Abstract:
ในปี พ.ศ. 2515 ญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับปัญหารอบด้านทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสองจีนเป็นปัญหาในนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นมาก เนื่องจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมิตรประเทศของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนท่าทีและนโยบายต่างประเทศต่อจีนใหม่โดยไม่ได้ร่วมปรึกษากับญี่ปุ่นก่อน ตามหลักการที่เคยตกลงกันไว้ ทำให้ญี่ปุ่นทั้งไม่พอใจและตกใจจนกลายเป็นสถานการณ์ที่เรียกกันว่า “นิกสันช็อค” และอีกไม่นานต่อมา นายกรัฐมนตรีทานาคะ ได้เดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในขั้นปกติกับจีน ทำให้มีผู้วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานาว่าญี่ปุ่นใช้นโยบายต่างประเทศเดินตามหลังสหรัฐอเมริกาบ้าง แต่บางคนก็ว่าดำเนินนโยบายล้ำหน้าสหรัฐอเมริกา เพราะญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนก่อนสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเข้าใจที่กระจ่างชัดว่าเหตุใดรัฐบาลญี่ปุ่นจึงสามารถดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในขั้นปกติกับจีนก่อนสหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาได้ตั้งสมมติฐานหลักเพื่อการศึกษาว่า “การที่ญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นเพราะแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน” วิธีการวิจัยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ใช้การวิจัยเชิงเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้นเอกสารที่ว่านี้มี 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ เป็นเอกสารความเรียงทั่วไป และเป็นเอกสารการวิจัยที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งพิมพ์ปรากฏในตำรา คำบรรยาย วารสาร และสิ่งพิมพ์ทางราชการอื่น ๆ เอกสารส่วนใหญ่เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ และอาจมีบ้างที่เป็นภาษาญี่ปุ่น แนวการวิเคราะห์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเน้นทางประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นเกณฑ์สำคัญ จากการวิจัยพบว่า สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเทศมหาอำนาจและองค์การระหว่างประเทศมีส่วนผลักดันให้ญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในปี พ.ศ. 2515 มากกว่าสถานการณ์การเมืองภายในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายใน พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ทัศนะของผู้นำ มติมหาชนและสื่อมวลชนในญี่ปุ่น กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2515 มีปัจจัยภายนอกมากระทบญี่ปุ่นหลายปัจจัย ซึ่งล้วนแต่ส่งผลสำคัญต่อญี่ปุ่นให้ดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ประกอบด้วยเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น ความเปลี่ยนแปลงในเอเชีย ปัญหาน่านน้ำระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพโซเวียต ความมั่นคงร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น การต่อต้านลัทธิครองความเป็นเจ้า ปัญหาการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ประเทศเล็ก ๆ ในเอเชีย ตลาดร่วมยุโรปและออสเตรเลีย กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรับรองจีนในองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งท่าทีของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่มีต่อจีน และโดยเฉพาะท่าทีที่ญี่ปุ่นมีต่อจีนและจีนมีต่อญี่ปุ่นล้วนแต่มีบทบาทในการเสริมสร้างให้ญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ส่วนปัจจัยภายในก็มีบทบาทต่อการผลักดันให้ญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเหมือนกัน แต่มีบทบาทน้อยกว่าปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในเหล่านี้ประกอบด้วยเรื่องนโยบายสองจีนของญี่ปุ่น การเลือกตั้งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย นโยบายเงินเฟ้อของรัฐบาลซาโตะ นโยบายการคลังที่เน้นการระดมทุนเพื่อการขยายอุตสาหกรรมการส่งออก การผลิตมากเกินไปในวงจรอุตสาหกรรม นโยบายการเร่งการส่งออกของนายกรัฐมนตรีซาโตะ การปรับค่าเงินเยนให้สูงขึ้น การเปลี่ยนให้เป็นเสรีทางการค้า พรรคการเมืองของญี่ปุ่นส่วนมากสนับสนุนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน การหนุนช่วยของกลุ่มขวาใหม่ภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มชันเคน กลุ่มข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มนิยมจีนในรัฐสภาญี่ปุ่น กลุ่มนายกรัฐมนตรีทานาคะ รวมทั้งมติมหาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายสองจีนของรัฐบาลซาโตะ และการเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับประธานาธิปบดีนิกสันเยือนจีน ข่าวการรับรองจีนในองค์การสหประชาชาติและข่าวการต่อต้านการขยายกำลังป้องกันตนเองของสื่อมวลชนญี่ปุ่น ล้วนเป็นปัจจัยภายในที่มีบทบาททั้งโดยตรงและอ้อมทั้งสิ้น