Abstract:
ในประเทศไทยยังไม่มีสื่อการสอนทันตสุขศึกษาและการแปรงฟันสำหรับเด็กตาบอดโดยเฉพาะ ดังนั้น โครงการวิจัยนำร่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบสื่อประสมซึ่งประกอบด้วยเทปเสียงและแบบฟันจำลอง ในการสอนทันตสุขศึกษาและการแปรงฟันสำหรับนักเรียนตาบอด อายุ 10-16 ปี จำนวน 51 คน โดยจัดแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มควบคุม (2) กลุ่มเรียนจากสื่อประสม (3) กลุ่มเรียนจากสื่อประสบและมีอาจารย์ควบคุม โดยกลุ่มควบคุมจะเรียนทันตสุขศึกษาและการแปรงฟันจากอาจารย์สอนสุขศึกษา ตามวิธีการและขั้นตอนตามหลักสูตรของโรงเรียน กลุ่มเรียนจากสื่อประสมและมีอาจารย์ควบคุมจะเรียนทันตสุขศึกษาและการแปรงฟันจากสื่อประสมโดยจะมีอาจารย์ประจำชั้นให้การดูแลการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันสัปดาห์ละ 2 วัน ประสิทธิภาพการแปรงฟันวัดด้วยค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ของ Podshady & Haley โดยวัดก่อนการทดลอง และหลังการทดลอง 2 สัปดาห์ 4 สัปดาห์ 8 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยดัชนีจุลินทรีย์ของกลุ่มทดลองทั้ง 3 มีแนวโน้มลดลงหลังการแปรงฟัน โดยการเปรียบเทียบทางสถิติด้วย Anova พบว่าค่าเฉลี่ยดัชนีคราบจุลินทรีย์ของกลุ่มควบคุม ในช่วงระยะ 8 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ หลังการสอนทันตสุขศึกษาและการแปรงฟันมีค่าลดลงจากก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ 0.05 ค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ของกลุ่มเรียนจากสื่อประสมและมีอาจารย์ควบคุม ในช่วงระยะ 8 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ หลังการสอนทันตสุขศึกษาและการแปรงฟันมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับ 0.05 และ 0.01 ตามลำดับ การสอนทันตสุขศึกษาทำให้นักเรียนตาบอดมีความรู้เพิ่มขึ้น โดยพบว่า หลังการทดลองในกลุ่มเรียนจากสื่อประสมเป็นกลุ่มที่มีความรู้มากที่สุด และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ 0.01 เมื่อเปรียบเทียบทางสถิติด้วย Least Significant Difference กับกลุ่มควบคุม และกลุ่มเรียนจากสื่อประสมและมีอาจารย์ควบคุม ดังนั้นในการสอนทันตสุขศึกษา และการแปงฟันโดยใช้สื่อประสมสามารถทำให้นักเรียนตาบอดมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่การพัฒนาประสิทธิภาพในการแปรงฟันให้สะอาดขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นๆ เสริมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม