Abstract:
จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ ศึกษาการตอบสนองของเซลล์เอ็นยึดปริทันต์ เมื่อกระตุ้นด้วยเอสโตรเจน IL-1beta และ LPS โดยลำพัง หรือเมื่อกระตุ้นด้วยเอสโตรเจนร่วมกับ IL-1beta หรือเอสโตรเจนร่วมกับ LPS โดยต้องการตรวจสอบการตอบสนองในแง่การแสดงออกของ IL-6, NOS และการหลั่งเอนไซม์ MMP-1, -2,-3 เซลล์เอ็นยึดปริทันต์ถูกเพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อเอ็นยึดปริทันต์ของมนุษย์ เซลล์ถูกกระตุ้นด้วยสารกระตุ้น เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงระดับการแสดงออกของ IL-6 และ NOS ด้วยเทคนิคอาร์ที-พีซีอาร์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ MMP-1 และ MMP-2, -3 จะตรวจสอบด้วยวิธีเวสเทอร์นอนาไลซิส และไซโมกราฟีตามลำดับ หลังจากกระตุ้นเซลล์เป็นเวลา 48 ชั่วโมงผลการทดลองพบว่า เอสโตรเจนที่ความเข้มข้น 100 นาโนโมลาร์ มีผลกระตุ้นการหลั่ง MMP-3 แต่ไม่มีผลต่อ MMP-1,-2 และไม่มีผลต่อการแสดงออกของ IL-6 และ NOS ในขณะที่ IL-1 beta และ LPS มีผลกระตุ้นการแสดงออกของ IL-6 และ NOS และเพิ่มการหลั่ง MMP-1 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เอสโตรเจนช่วยเสริมผลของ IL-1 beta ในการเหนี่ยวนำการแสดงออกของ IL-6, NOS และ MMP-1 โดยจะทำให้ระดับของ IL-6, NOS และ MMP-1 เพิ่มขึ้นเป็น 2.4, 5 และ 2.3 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 1.7, 4.2 และ 1.3 เท่า เมื่อกระตุ้นด้วย IL-1beta เพียงลำพัง ในขณะเดียวกันเอสโตรเจนยังช่วยเสริมผลของ LPS ด้วย โดยระดับของ NOS และ MMP-1 เพิ่มขึ้นเป็น 3.7 และ 2.9 เท่าตามลำดับเมื่อเทียบกับ 2 และ 1.9 เท่า เมื่อกระตุ้นด้วย LPS ตามลำพัง ผลการทดลองนี้ แสดงให้เห็นว่า ในสภาวะที่มีระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น จะมีผลต่อการตอบสนองของเซลล์เอ็นยึดปริทันต์ที่มีต่อสารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการอักเสบ โดยทำให้ระดับของเอนไซม์และซัยโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายเนื้อเยื่อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับของการอักเสบของเนื้อเยื่อปริทันต์เพิ่มสูงขึ้นในระยะวัยรุ่น หรือในสตรีที่มีครรภ์ ซึ่งมีระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นในกระแสเลือด