Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางคลินิก พยาธิวิทยา โลหิตวิทยา เคมีเลือดและศึกษาปริมาณการขับออกของอะฟลาท็อกซินบี 1 ทางอุจจาระเป็นระยะเวลา 10 วัน ในลูกไก่กระทงที่ป้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ขนาด 5 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว โดยแบ่งลูกไก่ทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ป้อนน้ำกลั่น กลุ่มที่ 2 ป้อนน้ำมันมะกอก เป็นกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ 3 ป้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ผลการวิจัยพบว่า ลูกไก่กลุ่มที่ป้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ในวันที่ 2 มีอาการซึม กินอาหารลดลง ค่าโลหิตวิทยาประกอบด้วยค่าฮีมาโตคริต ค่าฮีโมโกลบิน ค่าจำนวนเม็ดเลือดแดงทั้งหมด ค่าจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ค่าลิมโฟซัยต์ ค่าเฮตเทอโรฟิล ค่าโมโนซัยต์ ค่าอีโอซิโนฟิล และค่าเบโซฟิล มีค่าเปลี่ยนแปลงบ้างในแต่ละกลุ่ม แต่ยังอยู่ในระดับปกติ เช่นเดียวกับค่าเคมีเลือด โดยเฉพาะค่า BUN ซึ่งมีค่าแตกต่างในแต่ละกลุ่ม แต่ยังคงอยู่ในระดับปกติ ผลการศึกษาทางพยาธิวิทยาจากการดูด้วยตาเปล่า ในวันที่ 2 ตับมีจุดเลือดออก (87.5%) และในวันที่ 3-9 ตับมีสีเหลืองซีด (62.5%-87.5%) ในวันที่ 2 และ 3 น้ำหนักตับสัมพัทธ์ไม่เพิ่มขึ้น (P>0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 1 และ 2 ในวันที่ 2 และ 3 ไตมีลักษณะบวมและสีเหลืองซีด (75%-87.5%) และในวันที่ 2-8 กระเพาะบดมีแผลหลุมลอกหลุด (62.5%-87.5%) ในวันที่ 1-4 เซลล์ตับเริ่มมีการเสื่อมแบบมีไขมันแทรกรอบเส้นเลือดดำกลางแล้วแผ่กระจายแบบมีไขมันแทรกทั่วไปในระดับปานกลางถึงรุนแรง เซลล์ตับตาย ร่วมกับมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุน้ำดี ในวันที่ 5-6 เซลล์ตับเริ่มมีการเรียงตัวกลับสู่สภาพเดิม แต่ยังคงพบการเสื่อมแบบมีไขมันแทรกในระดับอ่อน ในวันที่ 7-8 เซลล์ตับเรียงตัวเป็นกลุ่มและเบียดเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีให้เล็กลงและพบเซลล์ไฟโบรบลาสท์เจริญล้อมเซลล์ตับ ในวันที่ 9-10 เซลล์ตับมีการเรียงตัวเป็นแถวคู่คล้ายสภาพปกติ ส่วนไตในวันที่ 2-3 พบการเสื่อมของเซลล์เยื่อบุท่อไตในระดับอ่อนถึงปานกลาง การขับถ่ายของอะฟลาท็อกซินบี 1 ทางอุจจาระพบว่าในวันที่ 1 มีการขับถ่ายสูงสุด ลดลงอย่งรวดเร็วในวันที่ 3 และลดลงตามลำดับจนสิ้นสุดการทดลอง