Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้ที่ภาวะมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน 2)ศึกษาวิถีชีวิตของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน 4)เพื่อศึกษาการจัดการภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแบบเจาะจง เป็นผู้หญิงและผู้ชายที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานโดยกำหนดค่า BMI (body mass index) เท่ากับ 30 หรือมากกว่า 30 ขึ้นไป จำนวน 10 ตัวอย่าง รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การศึกษาประวัติชีวิต ผลการศึกษาพบว่า การรับรู้ภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานนั้นเกิดจากการนำตนเองไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น อันจะนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของตนเอง เกิดความรู้สึกขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายที่ตนเองนั้นเป็นอยู่ กับภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายที่ตนเองอยากจะเป็นหรือภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายในอุดมคติ และนำไปสู่ความอาย ความต้องการปกปิด ภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายที่ตนเองนั้นเป็นอยู่ เกิดความทุกข์กายและใจเมื่อไม่สามารถมีภาพลักษณ์ที่ตนเองต้องการได้ขึ้นภายในจิตใจ จนก่อเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตราบาปขึ้นมา ความรู้สึกเป็นตราบาปไม่ได้มีผลแค่ในทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีผลในทางการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น การใช้ชีวิตในสังคม ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานจึงต้องหาวิธีในการระงับ หรือขจัดความรู้สึกเป็นตราบาปภายในจิตใจของตนเองให้น้อยลงหรือหายไป ซึ่งก็คือ การจัดการภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งวิธีในการจัดการภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน ก็จะแตกต่างกันไปตามความพึงพอใจภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน