Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความรู้ความเข้าใจของประชาชนในบทบาท การใช้อำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าของประชาชน รูปแบบวิธีการในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ตลอดจนข้อจำกัดด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของประชาชนในการใช้อำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ศึกษากรณีเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ประชาชนที่เคยมีประสบการณ์จับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าในเขตพื้นที่ปทุมวัน จำนวน 12 ราย ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและใช้วิธีวิจัย เชิงคุณภาพ ด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลในลักษณะการพรรณาความ ผลการวิจัย พบว่า 1. ผู้ให้ข้อมูลสำคัญมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าว่า เป็นบทบาทหน้าที่ของพลเมืองดี อันดับแรก เป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย อันดับสอง และเป็นบทบาทการช่วยเหลือสังคม อันดับสุดท้าย 2. การใช้อำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดผิดซึ่งหน้าของประชาชน พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีกฎหมายที่ให้อำนาจประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า แต่ไม่ทราบว่าเป็นกฎหมายฉบับใด 3. ขอบเขตการใช้อำนาจของประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า คือ การจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าของประชาชนต้องครบองค์ประกอบตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และขอบเขตการใช้อำนาจของประชาชนขณะจับกุมตัวคนร้าย คือ หากบุคคลซึ่งจะถูกจับกุม ขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับกุม หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ประชาชนผู้จับกุมมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น 4. รูปแบบวิธีการของประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามกฎหมาย จำแนกตามพฤติกรรมของคนร้ายขณะถูกจับกุม พบว่า มีกรณีคนร้ายยินยอมให้จับกุม กรณีคนร้ายวิ่งหลบหนีการจับกุม กรณีคนร้ายต่อสู้ขัดขวางการจับกุม กรณีคนร้ายปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดขณะถูกจับกุม 5. ข้อจำกัดด้านกฎหมายของประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ได้แก่ การขาดกฎหมายคุ้มครองประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ส่วนข้อจำกัดด้านการบังคับใช้กฎหมายของประชาชนในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ อาวุธ จำนวนคน เป็นต้น