Abstract:
สัมพันธภาพระหว่างแพทย์ผู้ดูแลและผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความสำคัญและมีลักษณะพิเศษกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น เป็นสัมพันธภาพตลอดชีวิตของทั้งสองฝ่าย ความไว้วางใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสัมพันธภาพนี้ ผู้วิจัยศึกษาความไว้วางใจที่ผู้ติดเชื้อมีต่อแพทย์ผู้รักษา โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากรับรู้ผลเลือดจนเข้าสู่กระบวนการรักษา 2) ศึกษาประสบการณ์ในการตรวจรักษากับแพทย์ 3) เพื่อศึกษาลักษณะแพทย์ที่ผู้ติดเชื้อให้ความไว้วางใจ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 ราย จากการวิจัยมีข้อค้นพบ 3 ประเด็นหลักคือ 1. ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากรับรู้ผลเลือด พบว่ามีความเปลี่ยนแปลง 4 ระยะคือ จมอยู่กับความทุกข์ ฮึดสู้กับโรคร้าย ยอมรับได้อย่างแท้จริง เกิดความงอกงามภายในใจ 2. ประสบการณ์ในการตรวจรักษากับแพทย์พบประสบการณ์ด้านบวก 2 ประการคือ ยอมรับ เข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ และได้รับการดูแลโดยไม่รังเกียจ ประสบการณ์ด้านลบ 5 ประการคือ การถูกปฏิเสธการรักษา รู้สึกว่าแพทย์ตรวจรักษาตามหน้าที่ ไม่ให้เกียรติและได้รับคำพูดตอกย้ำความรู้สึก ได้รับการรักษาล่าช้าจนพิการ ถูกแสดงท่าทีเหินห่าง รังเกียจ 3. ลักษณะแพทย์ที่ผู้ติดเชื้อให้ความไว้วางใจ พบประเด็นย่อย 3 ประเด็นคือ ความหมายและความสำคัญของความไว้วางใจ การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของความไว้วางใจ ลักษณะแพทย์ที่ผู้ติดเชื้อให้ความไว้วางใจ การศึกษานี้ทำให้เกิดความเข้าใจต่อความไว้วางใจของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีต่อแพทย์ผู้รักษา ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ในงานจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งมีความไว้วางใจของผู้รับบริการเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน