Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแก้ไขปัญหาการประมาณค่าพารามิเตอร์ของตัวแบบความถดถอยพหุเชิงเส้น เมื่อเกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรงด้วยวิธีการวิเคราะห์ตัวประกอบหลัก ได้ทำการศึกษาในขอบเขตของจำนวนตัวแปรอิสระ 2 และ 3 ตัว ที่มีการแจกแจงแบบปกติมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0 ความแปรปรวนเท่ากับ 2 และความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนเท่ากับ 2 โดยที่ค่าสัมประสิทธิ์ความถดถอยมีค่าเท่ากับ 2 และมีขนาดตัวอย่างเท่ากับ 50, 100, 200 ซึ่งระดับความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระ 2 ตัว คือ 0.90, 0.91, 0.92,…, 0.99 และสำหรับตัวแปรอิสระ 3 ตัว จะพิจารณาค่าระดับความสัมพันธ์สูงสุดจากค่าระดับความสัมพันธ์ภายใต้ขอบเขตที่ทำการศึกษา
ผลการศึกษากรณีตัวแปรอิสระ 2 ตัวพบว่า ระดับความสัมพันธ์ตั้งแต่ 0.95 – 0.99 จะเกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง ของทุกๆขนาดตัวอย่างที่ทำการศึกษา ดังนั้น ระดับความสัมพันธ์ 0.95 คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง และกรณีตัวแปรอิสระ 3 ตัว พบว่าระดับความสัมพันธ์สูงสุดเท่ากับ 0.93 , 0.95, 0.97, 0.99 จะเกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง เมื่อขนาดตัวอย่างเท่ากับ 50, 100 และระดับความสัมพันธ์สูงสุดเท่ากับ 0.91, 0.93, 0.95, 0.97, 0.99 จะเกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง เมื่อขนาดตัวอย่างเท่ากับ 200 ดังนั้น ระดับความสัมพันธ์ 0.93 คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง เมื่อขนาดตัวอย่างเท่ากับ 50, 100 และ ระดับความสัมพันธ์ 0.95 คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง เมื่อขนาดตัวอย่างเท่ากับ 200 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาพหุสัมพันธ์ด้วยวิธีการวิเคราะห์ตัวประกอบหลัก พบว่าค่าเฉลี่ยความคลาดเคลื่อนมาตรฐานก่อนการแก้ไขปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรงมีค่ามากกว่าหลังการแก้ไขปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง แต่ค่าเฉลี่ยความเอนเอียงก่อนการแก้ไขปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรงมีค่าน้อยกว่าหลังการแก้ไขปัญหาพหุสัมพันธ์รุนแรง