Abstract:
การวิจัยอินเตอร์เน็ตกับการสร้างอัตลักษณ์ของรัฐสิงคโปร์ในโลกาภิวัตน์ มีวัตถุประ สงค์เพื่อศึกษาการทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตทั้งนโยบายภายในประเทศ และระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2008 ภายใต้สมมติฐานที่ว่า อินเตอร์เน็ตมิได้ส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยของอำนาจรัฐ แต่อินเตอร์เน็ตส่งผลต่อการสร้างอัต ลักษณ์ของรัฐสิงคโปร์ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยในโลกาภิวัตน์ โดยใช้การวิเคราะห์ผ่านกรอบความคิดเรื่องการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของรัฐ ในทฤษฎีประดิษฐกรรมนิยมทางสังคม (Constructivism) ของ Alexander Wendt ผู้เสนอว่า รัฐยังคงความสำคัญในฐานะตัวแสดงหลักในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเนื่องจากรัฐสามารถปรับตัวและสร้างอัตลักษณ์เพื่อตอบสนองกับโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงในโลกาภิวัตน์ จากการวิเคราะห์นโยบายอินเตอร์เน็ตของสิงคโปร์ภายใต้แผนแม่บท “การสร้างเกาะอัจฉริยะ (IT2000) และการสร้างชาติอัจฉริยะ (iN2015)” พบว่า รัฐบาลสิงคโปร์ภายใต้แกนนำของพรรคกิจประชา (People’s Action Party: PAP) สามารถใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการสร้างวาทกรรมเพื่อรักษาอำนาจของรัฐ โดยสิงคโปร์นำเสนออัตลักษณ์ 5 แบบคือ 1. การเป็นรัฐที่ส่งเสริมประชาธิปไตยผ่านการพัฒนาอินเตอร์เน็ต 2. การเป็นประเทศศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแบบเสรีที่รองรับด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ 3. อินเตอร์เน็ตกับการสร้างความเท่าเทียมในสังคมพหุวัฒนธรรม 4. การเป็นรัฐที่สร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ 5. การเป็นรัฐธรรมาภิบาลของรัฐบาลสิงคโปร์ อัตลักษณ์เหล่านี้แสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบจากอินเตอร์เน็ตที่มีต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในโลกาภิวัตน์ อย่างไรตาม ความสามารถในการสร้างอัตลักษณ์ของรัฐสิงคโปร์ผ่านนโยบายอินเตอร์เน็ต ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงมีลักษณะการทำงานแบบรัฐอำนาจนิยมในปัจจุบัน