Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของร่างข้อตกลงฯ แกตต์ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับการลดหรือยกเลิกการช่วยอุดหนุนสินค้าเกษตร ที่มีผลเป็นการวางกรอบวินัยทางการค้า อันจะส่งผลกระทบต่อกฎหมายเศรษฐกิจของไทย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบกฎหมายเกี่ยวกับการค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขและรูปแบบกฎหมายที่ควรจะเป็น ผลของการวิจัยพบว่า หากมีการยอมรับและผูกพันร่างข้อตกลงแล้ว จะเป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์ในการที่จะนำมาใช้เป็นกรอบ และนโยบายการช่วยอุดหนุนสินค้าเกษตรของไทย (1) จะต้องปรับเปลี่ยนหลักกฎหมายของไทยเกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าโดยเฉพาะที่ไม่อยู่ในรูปภาษี การช่วยอุดหนุนภายในที่มีลักษณะของการผลักภาระสู่ผู้บริโภค และการช่วยอุดหนุนส่งออกที่อยู่ในลักษณะของการหลีกเลี่ยงเพื่อแข่งขันส่งออก (2) ผลการผูกพันการปรับเปลี่ยนหลักกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากกฎหมายไทยและผลโดยอ้อมจากกฎหมายต่างประเทศ จะเป็นผลดีต่อการค้าสินค้าส่งออก และจะเป็นผลเสียต่อสินค้านำเข้า แนวทางแก้ไขและรูปแบบกฎหมายที่ควรจะเป็น (1) ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (2) จะต้องปรับแนวนโยบายและกลยุทธ์เพื่อพัฒนาการเกษตรทั้งในระดับราคาการผลิตและส่งออก (3) กลไกของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าจะต้องนำไปสู่การเปิดตลาด ในกรณีจำเป็นให้ปรับมาอยู่ในรูปภาษี การช่วยอุดหนุนภายใน ต้องไม่มีผลบิดเบือนทางการค้า และสามารถดำเนินการในรูปบริการทั่วไป หรือในรูปการช่วยเหลือโดยตรงต่อผู้ผลิต แต่ทั้งนี้ต้องไม่สัมพันธ์กับชนิดหรือปริมาณผลผลิต, การช่วยอุดหนุนส่งออกจะต้องเป็นไปตามหลักการที่ตกลงในระหว่างประเทศ (4) ควรบัญญัติกฎหมายการเก็บภาษีตอบโต้การช่วยอุดหนุนเพื่อนำมาใช้ป้องกันผลกระทบ