Abstract:
ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตและการเจริญเติบโตของประเทศ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ การลงทุนทางการศึกษาสามารถเพิ่มผลิตภาพในทุนมนุษย์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลตอบแทนจากการศึกษาและปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสถานภาพการทำงานของแรงงานในประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาค อัตราผลตอบแทนจากการศึกษาในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คำนวณโดยอาศัยสมการรายได้ของ Mincer ซึ่งอยู่ในรูป Semi-logarithm โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักรของสำนักงานสถิติแห่งชาติปีพ.ศ.2533, 2543 และ 2553 โดยจำแนกเป็นเพศชายและหญิง รวมทั้งตามกลุ่มสถานภาพการทำงานเพื่อให้เห็นความแตกต่างและนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยการประมวลผลได้มีการแก้ไขปัญหา Sample Selection Bias โดยใช้วิธี Two Step Heckman Estimation ผลการศึกษาตามแบบจำลองโพรบิท โดยหาค่าผลกระทบส่วนเพิ่ม พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสถานภาพการทำงานเป็นลูกจ้างรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่เป็นบวก คือ อายุ, แรงงานในลูกจ้างกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงและปานกลาง, มีการอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และมีสถานภาพสมรส ส่วนลูกจ้างเอกชนปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมามีผลในทางตรงกันข้าม เมื่อแรงงานมีระดับการศึกษาเพิ่มขึ้นผลตอบแทนจากการศึกษาในลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเพศชาย (หญิง) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6, 13.4 และ13.8 (13.2, 15.2 และ16.5) ลูกจ้างรัฐบาลเพศชาย (หญิง) ผลตอบแทนจากการศึกษาร้อยละ 14.1, 11.6 และ11.9 (10.4, 11.3 และ12.9) ส่วนลูกจ้างเอกชนเพศชาย (หญิง) ร้อยละ 8.1, 8.6 และ 5.5 (8.9, 8.9 และ5.8) ในปีพ.ศ.2533, 2543 และ 2553 ตามลำดับ และผู้ที่มีการศึกษาสูงขึ้นจะมีผลตอบแทนหรือส่วนต่างค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษา ทั้งนี้หากการศึกษาในระดับเดียวกันพบว่า การศึกษาในสายอาชีพให้ผลตอบแทนมากกว่าสายสามัญ