Abstract:
เมื่อโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาของหลักประกันรายได้ของประชากรกลุ่มดังกล่าว ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรตะหนักถึง นอกจากการออมของครัวเรือนแล้ว ทรัพย์สินบำนาญภาคบังคับเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ดังนั้น เพื่อศึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินบำนาญภาคบังคับของครัวเรือนในประเทศไทย และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการออมของครัวเรือน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อมีทรัพย์สินบำนาญเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ตลอดชีวิต งานวิจัยนี้ จึงใช้ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2549 และทำการประมาณค่ามูลค่าปัจจุบันของทรัพย์สินบำนาญภาคบังคับ ที่สมาชิกครัวเรือนได้รับจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ในกองทุนบำนาญภาคบังคับที่มีอยู่แล้ว สองกองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จากนั้นนำผลการประมาณค่าดังกล่าว มาใช้ในการศึกษาผลกระทบของทรัพย์สินบำนาญที่มีต่อการออมของครัวเรือน โดยใช้มูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของครัวเรือน เป็นตัวแทนการออมของครัวเรือน และทำการประมาณค่าผลกระทบผ่านแบบจำลอง Ordered logistic regression ตามสมมติฐานการบริโภคที่คำนึงถึงวงจรชีวิต (Life cycle hypothesis) ผลการศึกษา พบว่า ครัวเรือนในประเทศไทยที่มีทรัพย์สินบำนาญภาคบังคับอยู่เพียงร้อยละ 24.07 ของครัวเรือนทั้งหมด ในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 12.16 มีระดับทรัพย์สินทางการเงินต่ำมาก ส่วนครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ไม่มีทรัพย์สินบำนาญ ก็มีระดับทรัพย์สินทางการเงินในระดับต่ำเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินบำนาญภาคบังคับของไทยไม่ส่งผลกระทบในทางลบกับระดับทรัพย์สินทางการเงินของครัวเรือนส่วนใหญ่ ดังนั้นการขยายระบบบำนาญภาคบังคับของไทยจึงสมควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณ นอกจากการออมภาคสมัครใจเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอ