Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาวินัยตลาดของผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ไทยโดยการวัดการตอบสนองของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ส่วนแบ่งการตลาดและอัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของเงินฝากต่อปัจจัยที่แสดงฐานะทางการเงินและความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ตามหลัก CAMEL ผลการศึกษาพฤติกรรมการเรียกดอกเบี้ย พบว่า ผู้ฝากเงินระยะ 3 เดือนมีการติดตามฐานะทางการเงินและความเสี่ยงในด้านความพอเพียงของเงินทุนและคุณภาพของสินทรัพย์ ส่วนผู้ฝากเงินระยะ 1 ปีมีการติดตามฐานะทางการเงินและความเสี่ยง 4 ด้านยกเว้นด้านสภาพคล่อง ขณะที่ผู้ฝากเงินระยะ 2 ปีมีการติดตามฐานะทางการเงินและความเสี่ยงด้านความพอเพียงของเงินทุนและความสามารถในการทำกำไร อย่างไรก็ตาม ผู้ฝากเงินทั้ง 3 ระยะมีการติดตามอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่โดยไม่เรียกอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สำหรับพฤติกรรมในการฝากเงิน พบว่า ระหว่างการศึกษาผ่านทางส่วนแบ่งการตลาดและอัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของเงินฝากนั้นได้ผลที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ ตัวแปรด้านความพอเพียงของเงินทุนมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับส่วนแบ่งการตลาดเงินฝากแต่มีทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของเงินฝากทั้งระยะสั้น ระยะยาวและรวม ขณะที่ตัวแปรที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรก็มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับส่วนแบ่งการตลาดของเงินฝากระยะยาวแต่มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของเงินฝากระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปในช่วงที่ประเทศไทยมีการใช้ระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนนั้น ผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ไทยมีวินัยตลาดโดยจะมีพฤติกรรมในการเรียกอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ที่มีความเสี่ยง