Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ขบวนการนักศึกษาไทย:วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยในเมืองช่วงระหว่าง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ถึงปี พ.ศ.2531” มุ่งตอบคำถามหลักคือ ขบวนการนักศึกษาในเมืองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จนถึง ปี พ.ศ.2531 มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น
จากการศึกษาพบว่าโครงสร้างโอกาสทางการเมืองช่วงปี พ.ศ.2519 ถึง พ.ศ.2520 โดยนโยบายควบคุมทางการเมืองแบบเข้มงวด ส่งผลให้นักศึกษามีข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อมาในปี พ.ศ.2521 ถึง พ.ศ.2523 รัฐดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเมือง ทำให้นักศึกษามีโอกาสในการระดมทรัพยากรเพื่อจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมจนประสบความสำเร็จ แต่การระดมทรัพยากรเพื่อจัดตั้งองค์กรของนักศึกษาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเชิงอุดมการณ์จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างลึกซึ้งจนกระทั่งถึงประมาณปี พ.ศ.2526 ขบวนการนักศึกษาถดถอยลงเนื่องจากเกิดวิกฤติศรัทธาต่ออุดมการณ์แบบปฎิวัติ เนื่องจากปัจจัย 3 ประการคือ ความขัดแย้งในโลกสังคมนิยมระดับสากล, ความเสื่อมถอยเชิงอุดมการณ์ปฎิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และนโยบายรุกทางการเมืองของรัฐ 66/2523 จากนั้น ช่วงปี พ.ศ.2526 ถึง พ.ศ.2531 นักศึกษาทำการระดมทรัพยากรเพื่อจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองครั้งใหม่แต่ไม่ได้รับอิทธิพลเชิงอุดมการณ์จากภายนอกขบวนการเหมือนช่วงปี พ.ศ.2521-2526 แต่อย่างใด ขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวในประเด็นที่หลากหลายมากขึ้นและมีองค์กรจัดตั้งของตนเองในการเคลื่อนไหวแต่ละประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันไป และเคลื่อนไหวเป็นแนวร่วมกับองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ