Abstract:
ปริมาณอาหารที่กินเหลือ (RFI) เป็นความแตกต่างระหว่างปริมาณอาหารที่สัตว์กินได้จริง (AFI) กับปริมาณอาหารที่คาดว่าสัตว์จะกินต่อวัน (EFI) RFI เป็นลักษณะที่มีความสำคัญ และถูกนำมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการใช้อาหารในปศุสัตว์มากขึ้น ข้อมูลจากการทดสอบสมรรถภาพการผลิตของสุกรพันธุ์แท้แลนด์เรซ จำนวน 479 บันทึก ถูกนำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ทำการทดสอบสุกรโดยเลี้ยงสุกรไว้คอกละหนึ่งตัว ให้กินอาหารแบบเต็มที่ อาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรเป็นอาหารสูตรเดียวกันตลอดการทดสอบ ประกอบด้วยโปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ และพลังงาน 2,950 กิโลแคลอรี มีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา ชั่งน้ำหนักสุกรเมื่อเริ่มและสิ้นสุดการทดสอบ วัดความหนาไขมันสันหลังเมื่อสิ้นสุดการทดสอบ และบันทึกปริมาณอาหารที่กินได้ ทำนายค่า EFI จากสมการทำนายที่ประกอบด้วยอิทธิพลของเพศ และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมจากครอกเดียวกัน และความแปรปรวนร่วมของ ADG และ BF ทำการประมาณค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมของลักษณะที่ศึกษา โดยใช้แบบหุ่นของตัวสัตว์และวิเคราะห์ด้วยวิธี REML ค่าอัตราพันธุกรรมของ RFI มีค่าต่ำ (0.16 ± 0.10) ในขณะที่ค่าอัตราพันธุกรรมของ FE และ ADG มีค่าปานกลาง (0.33 ± 0.15 และ 0.38 ± 0.17 ตามลำดับ) ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง RFI กับ FE มีค่าปานกลางและเป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ (-0.55 + 0.27) ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง RFI กับ ADG และ FE กับ ADG มีค่าไม่ต่างจากศูนย์ที่ระดับนัยสำคัญ p=0.05 (0.02 + 0.38 และ 0.15 + 0.31 ตามลำดับ) ผลจากการศึกษาพบว่าค่าอัตราพันธุกรรมของ FE และ RFI มีค่าเพียงพอที่จะทำการคัดเลือกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารของสุกร และ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือก FE มีแนวโน้มที่จะเพิ่ม ADG และการคัดเลือกเพื่อลด RFI จะทำให้ FE เพิ่มขึ้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอัตราการเจริญเติบโตของสุกร