Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการสูญเสียแร่ธาตุของเคลือบฟันโดยพิจารณาจากค่าร้อยละน้ำหนักที่หายไป ปริมาณแคลเซียมไอออนในสารละลาย และการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่างของสารละลายที่ใช้จำลองสภาวะช่องปาก เตรียมชิ้นเคลือบฟันวัว 246 ชิ้นให้มีขนาด 5x7x1 มม3 และมีน้ำหนัก 110±30 มก สุ่มแบ่งชิ้นตัวอย่างเป็น 5 กลุ่ม โดย 4 กลุ่มนำไปแช่ในสารละลายต่อไปนี้คือ สารละลายกรด แลคติค 0.07 โมลาร์ (กลุ่ม 1) น้ำลายเทียม (กลุ่ม 2) น้ำลายเทียมที่ผสมกรดแลคติค (กลุ่ม 3) น้ำลายเทียมผสมกรดแลคติคและผลึกไฮดรอกซีอะพาไทต์ (กลุ่ม 4) ส่วนชิ้นตัวอย่างในกลุ่ม 5 นำไปเคลือบด้วยเรซินแล้วจึงแช่ในน้ำลายเทียมที่ผสมกรดแลคติค แต่ละกลุ่มทำการแช่ชิ้นตัวอย่าง 1 ชิ้นในสารละลาย 10 มล และทดสอบในช่วงเวลาที่แตกต่างกันคือ 5 นาที 15 นาที 30 นาที 1 ชม 5 ชม 24 ชม 3 วัน และ 7 วัน (n=6) นำชิ้นตัวอย่างที่ผ่านการทดสอบมาล้างด้วยน้ำปราศจากไอออนร่วมกับทำความสะอาดด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงนาน 1 นาที ซับน้ำและเป่าแห้งนาน 1 นาที จากนั้นชั่งหาน้ำหนักและคำนวณค่าร้อยละของน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลง ส่วนสารละลายจะนำไปหาปริมาณแคลเซียมไอออนและวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ผลการวิเคราะห์ด้วยความแปรปรวนทางเดียว พบว่ากลุ่ม 1 ค่าร้อยละของน้ำหนักที่หายไปมีค่ามากที่สุดแตกต่างกับทุกกลุ่มในทุกช่วงเวลา ส่วนกลุ่ม 3 ค่าร้อยละของน้ำหนักที่หายไปแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกลุ่ม 2 ในทุกช่วงเวลา ไม่พบความแตกต่างของค่าร้อยละน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงระหว่างกลุ่ม 2 กับกลุ่ม 4 และกลุ่ม 5 ตลอดช่วง 1 ชม และ 5 ชม ตามลำดับ ปริมาณแคลเซียมไอออนในสารละลายกลุ่ม 1 และกลุ่ม 3 มีค่าเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่ม 2 ปริมาณแคลเซียมไอออนที่ลดลงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 กลุ่ม 4 และกลุ่ม 5 ปริมาณแคลเซียมไอออนที่เพิ่มขึ้นจะพบความแตกต่างใน 3 วัน และ 24 ชม ตามลำดับ ค่าความเป็นกรด-ด่างของสารละลายทดสอบแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันในทุกช่วงเวลา ยกเว้นกลุ่ม 3 และกลุ่ม 5 ตลอดช่วงเวลา 5 ชม ที่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตลอดช่วงเวลาการทดลองไม่พบความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่างของสารละลายกลุ่ม 2, 4 และ 5 จากผลการทดลองนี้สามารถสรุปได้ว่าน้ำลายไม่สามารถป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุจากเคลือบฟันได้ ในขณะที่ผลึกไฮดรอกซีอะพาไทต์สังเคราะห์และการปกคลุมผิวฟันด้วยเรซินสามารถป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุของเคลือบฟันได้ในช่วงเวลา 1 ชม และ 5 ชม ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ