Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงความรู้ ความเชื่อและพฤติกรรมการรับประทานอาหารของสตรีมีครรภ์ที่มีการศึกษา ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายของการศึกษา 4 ประการ กล่าวคือ 1) เพื่อศึกษาถึงความรู้ ความเชื่อและวิธีการซึ่งสตรีมีครรภ์ใช้ในการเลือกรับประทานอาหารแต่ละประเภท 2) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการรับประทานของสตรีตั้งครรภ์ที่มีการศึกษา 3) เพื่อศึกษาว่าสตรีมีครรภ์ที่มีการศึกษามีรูปแบบในการจัดการบูรณาการการบริโภคอาหารตามความเชื่อแบบสมัยโบราณให้สอดคล้องกับอาหารตามหลักความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร และ ประการที่ 4) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของพฤติกรรมการรับประทานอาหารของสตรีมีครรภ์ที่มีการศึกษาในอนาคต ผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบเทคนิคการวิจัยแบบการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมและวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในการรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลที่มาจากหลากหลายอาชีพจำนวน 20 กรณีศึกษา และได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ดังกล่าวตามกรอบแนวคิดที่ตั้งไว้ ผลจากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยหลักอยู่สี่ประการที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการรับประทานของสตรีมีครรภ์ที่มีการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้ คือ รายได้ สมาชิกของครอบครัว อาชีพและถิ่นที่อยู่อาศัยหรือภูมิลำเนาที่สตรีมีครรภ์เกิด สตรีมีครรภ์ส่วนมากได้บูรณาการเอาความเชื่อในการรับประทานอาหารแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับความเชื่อสมัยใหม่ ความรู้สมัยใหม่ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่สตรีมีครรภ์เชื่อ ได้แก่ความเชื่อเรื่องหลักอาหาร 5 หมู่ โดยสตรีมีครรภ์เชื่อว่ามีสารอาหารซึ่งอาจจำเป็นต่อตนเองในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีมีครรภ์ส่วนมากนั้นยังคงเห็นความสำคัญและต้องการที่จะสืบทอดความเชื่อดั้งเดิมในการรับประทานอาหารของไทยต่อไป เนื่องจากพวกเธอได้รับการขัดเกลาเลี้ยงดูจากครอบครัวให้มีความเชื่อที่ว่าพฤติกรรมการรับประทานดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมารดาและทารกในครรภ์ โดยสรุปแล้วพบว่า แนวโน้มของการที่สตรีมีครรภ์ที่มีการศึกษาจะยังคงดำเนินการบูรณาการเอาความเชื่อดั้งเดิมของไทยในการรับประทานอาหารเข้ากับความเชื่อสมัยใหม่จะยังคงมีต่อไป