Abstract:
การศึกษาวิเคราะห์ตีความตัวบททั้งหมดของเซโนฟอน เพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นทั้งหมดหรือแก่นความคิดของเซโนฟอน(Corpus Xenophonteum) ได้อาศัยการตีความตามความมุ่งหมายในการเขียนของเซโนฟอนที่ปรากฏเป็นร่องรอยของการตีความในตัวบทต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาแบบปรัชญาการเมืองที่พยายามทำความเข้าใจความคิดของนักปรัชญาการเมืองอย่างที่นักปรัชญาการเมืองคนนั้นปรารถนาจะให้เป็นที่เข้าใจ อันสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของปรัชญาการเมืองในการแสวงหาคำตอบต่อคำถามอันเป็นนิรันดร์ โดยเฉพาะชีวิตที่ดีหรือการมีชีวิตอยู่อย่างดีงาม ที่ในกรอบความคิดของเซโนฟอนก็คือ ความรู้แห่งผู้ปกครองที่แท้ ซึ่งเป็นการประสานชีวิตทางปรัชญาเข้ากับชีวิตทางการเมืองภายใต้แนวคิด คนดี(kalon kagathon) ที่จะต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์, การอยู่ร่วมกันของมนุษย์เป็นนครรัฐ, คุณธรรมความดีงามความถูกต้องเที่ยงธรรม, ระบอบการปกครองที่ดี, และผู้ปกครองที่ดี อันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ดีงามเหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆด้วยการคิดดี พูดดีและทำดี เพื่อประโยชน์ของประเทศบ้านเมือง เนื่องจากความรู้แห่งผู้ปกครองที่แท้เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าความรู้และศิลปะวิทยาการอื่นๆทั้งมวล เพราะความรู้แห่งผู้ปกครองที่แท้เป็นทั้งวิถีทางและเป้าหมายในการนำพามนุษย์ไปสู่ความดีความถูกต้องเที่ยงธรรม ทำให้มนุษย์มีศักยภาพเหมาะสมกับกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งมวลด้วยการกำหนดระเบียบแบบแผนกฏเกณฑ์ต่างๆสำหรับการมีชีวิตอยู่และการมีชีวิตอยู่อย่างดีงาม โดยอาศัยความเหนือกว่า(อำนาจที่เหนือกว่า)ทั้งทางกายภาพและคุณธรรมความดีที่ควบคู่มากับสภาพบังคับ เช่นเดียวกับความสำคัญของคุณธรรมในทางการเมืองการปกครอง(หรือธรรมของผู้ปกครอง)อันหมายถึง การสร้าง, การเพิ่มพูน, การปกป้องรักษา ความสามัคคีและความถูกต้องเที่ยงธรรมในประเทศบ้านเมืองนั้นๆให้เจริญงอกงาม ก็ย่อมมีความสำคัญและอยู่เหนือกว่าสิ่งที่ดีของศิลปะวิทยาการต่างๆ เพราะฉะนั้นความรู้แห่งผู้ปกครองที่แท้จึงเป็นความรู้ในสิ่งที่มีคุณ(ประโยชน์)ค่าอย่างแท้จริง ที่จะส่งผลให้ผู้คนรู้จักตนเอง(gnothi sauton) และพยายามเรียนรู้ปลูกฝังให้ตนนั้นดีงามมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อันเป็นระเบียบแบบแผนที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากการปกครองตนเองอย่างดีงามไปสู่การปกครองครอบครัว(และมิตรสหาย)อย่างดีงาม และไปสู่การปกครองบ้านเมืองอย่างดีงามในที่สุด