Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาความหมายของคำกริยา “ไป” และ “มา” ที่ปรากฏในทุกตำแหน่งในนวนิยายต้นฉบับภาษาไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน 2) เพื่อจัดประเภทของรูปภาษาเยอรมันในนวนิยายฉบับแปลที่ตรงกับคำกริยา “ไป” และ “มา” ในนวนิยายต้นฉบับภาษาไทย และ 3) เพื่อศึกษาความเท่าเทียมกันทางความหมายระหว่างคำกริยา “ไป” และ “มา” ในนวนิยายต้นฉบับภาษาไทยและรูปภาษาเยอรมันที่ตรงกับคำทั้งสองในนวนิยายฉบับแปล งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากนวนิยายต้นฉบับภาษาไทยเรื่อง “คำพิพากษา” และ “Das Urteil” ‘The Judgment’ ซึ่งเป็นนวนิยายฉบับแปลภาษาเยอรมัน ผลการวิจัยพบว่าคำกริยา “ไป” และ “มา” ในภาษาไทยแสดงความหมายได้หลายความหมายขึ้นอยู่กับตำแหน่งการปรากฏและคำกริยาที่ปรากฏร่วม กล่าวคือ เมื่อคำกริยา “ไป” และ “มา” ปรากฏเดี่ยวในประโยคจะแสดงการเคลื่อนที่ออกจากจุดอ้างอิงของผู้พูดและการเคลื่อนที่เข้าสู่จุดอ้างอิงของผู้พูด เมื่อคำกริยา “ไป” และ “มา” ปรากฏนำหน้าคำกริยาอื่น จะแสดงความหมายความห่างเชิงระยะทางของเหตุการณ์
และเมื่อคำกริยา “ไป” ปรากฏตามหลังคำกริยาอื่น จะแสดงความหมายทิศทางการณ์ลักษณะแบบสมบูรณ์และแบบไม่สมบูรณ์ และการเกินความพอดี ส่วนคำกริยา “มา” เมื่อปรากฏตามหลังคำกริยาอื่น จะแสดงความหมายทิศทางและเหตุการณ์ก่อนหน้าปัจจุบัน นอกจากนี้รูปภาษาเยอรมันในนวนิยายฉบับแปลที่ตรงกับความหมายของคำกริยา “ไป” และ “มา” มีรูปที่แตกต่างกันไป เช่น รูปคำกริยาเดี่ยว รูปคำกริยาตามด้วยบุพบทวลี รูปคำกริยาช่วยตามด้วยคำกริยาในรูป past participle หรืออาจไม่แสดงรูปภาษาที่ตรงกับคำกริยาทั้งสอง รูปภาษาเยอรมันเหล่านี้จะแปรไปตามความหมายของคำกริยา “ไป” และ “มา” รวมทั้งมุมมองของผู้แปลในการตีความบริบท นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่า เมื่อคำกริยา “ไป” และ “มา” แปลเป็นรูปภาษาเยอรมัน มีทั้งความหมายที่เพิ่มขึ้นและหายไป นั่นคือ อากัปกิริยาในการเคลื่อนที่และกาลเป็นความหมายที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนการเคลื่อนที่การบ่งชี้จุดอ้างอิงและการแสดงอัตวิสัยของผู้พูดเป็นความหมายที่หายไป