Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาคที่มีต่อความเปราะบางทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยใช้แบบจำลอง Contingent Claim Analysis ในการประเมินความเปราะบางทางการเงิน และใช้แบบจำลอง structural VAR ในการศึกษาผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงด้านลบทางเศรษฐกิจ โดยครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2554
ผลการประเมินค่า probability of default ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดความเปราะบางทางการเงินของธนาคารพาณิชย์พบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีความน่าจะเป็นในการผิดชำระที่ต่ำมาก แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมหภาคอยู่หลายครั้ง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือวิกฤตซับไพร์ม นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กมีค่าเปราะบางมากกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
ผลการศึกษาพบว่าความเสี่ยงจากด้านอุปสงค์ ความเสี่ยงจากด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงจากด้านอุปทานส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงินของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากเกิดเหตุการณ์มาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ครึ่งปี และ 1 ปี ตามลำดับ ซึ่งผลกระทบของค่าเงินบาทที่อ่อนลงอาจส่งผลกระทบต่อความเปราะบางโดยผ่านช่องทางเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยทั้งสามข้างต้นยังกระทบต่อกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ สำหรับความเสี่ยงจากนโยบายการเงินตึงตัวและการปรับพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์พบว่าไม่มีผลกระทบต่อความเปราะบางของธนาคารพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ