Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกำหนดส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วกับราคาขายปลีกไบโอดีเซลB5 ที่เหมาะสม โดยศึกษาถึงปัจจัยที่กำหนดปริมาณการใช้ไบโอดีเซลB5 และปัจจัยที่ส่งผลกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล โดยพบว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและจำนวนสถานีจำหน่ายไบโอดีเซลB5 มีผลต่อปริมาณการใช้ไบโอดีเซลB5 ในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนต่างราคาขายปลีกมีผลในทิศทางเดียวกันเช่นกันแม้ไม่มีนัยสำคัญก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองและปริมาณการใช้ไบโอดีเซลB100 มีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มดิบ ในประเทศในทิศทางตรงข้ามอย่างมีนัยสำคัญ ถ้ากำหนดให้ส่วนต่างราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลและราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลได้ในที่สุด ดังนั้นส่วนต่างราคาขายปลีกที่เหมาะสมต้องทำให้รัฐบาลและผู้ค้าน้ำมันสูญเสียเงินภาษี เงินส่งเข้ากองทุน และค่าการตลาดในการอุดหนุนไม่เกินกว่าผลประโยชน์ภายนอกที่จะได้รับจากการใช้ ไบโอดีเซลB5 แทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เมื่อศึกษากรณีนโยบายราคาขายปลีกไบโอดีเซลB5ในเดือนธันวาคม 2550 พบว่าควรกำหนดราคาขายปลีกไบโอดีเซลB5 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 0.60 บาท/ลิตร ส่วนในปี2551 ทั้งกรณีไม่มีการบังคับใช้ไบโอดีเซลB2 และกรณีมีการบังคับใช้ไบโอดีเซลB2 แทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั่วประเทศ พบว่ารัฐบาลควรกำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกไม่เกิน 0.60 บาท/ลิตร และ 0.40 บาท/ลิตร ตามลำดับ แต่ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ภายนอกขั้นต่ำทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้รวมผลประโยชน์ภายนอกด้านอื่นๆที่คำนวณเป็นตัวเงินได้ยาก ดังนั้นรัฐบาลอาจกำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกให้มากกว่านี้ได้ ถ้าพิจารณาผลประโยชน์ภายนอกด้านอื่นร่วมด้วย แต่ต้องคำนึงถึงราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่อาจจะสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ด้านผลผลิตปาล์มน้ำมัน เกษตรกรยังคงมีปัญหาในการปลูกปาล์ม เช่น ความผันผวนในราคารับซื้อผลปาล์ม การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการขาดปาล์มพันธุ์ดีที่มีอัตราน้ำมันสูง