Abstract:
ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน มักมุ่งเน้นไปที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น ได้นำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศ เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น โดยในระยะที่ผ่านมา หลายรัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้แก้ปัญหาคือ การจัดสรรงบประมาณไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศผ่านทางหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ดี การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้นั้น จำเป็นต้องมีความเหมาะสมและยุติธรรมเพียงพอ จึงเป็นที่มาของวัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ คือ ประการแรก เพื่อศึกษาถึงความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรงบประมาณในจังหวัด และขนาดของความเหลื่อมล้ำ ประการที่สอง เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดสรรงบประมาณจังหวัด การศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลงบประมาณจังหวัดจากสำนักงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2552 โดยใช้ดัชนีไทล์(Theil index) ในการวัดความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรงบประมาณ และวิธีการทางเศรษฐมิติในการหาปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อการจัดสรรงบประมาณ ผลจากการศึกษาพบว่า การจัดสรรงบประมาณจังหวัดมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เป็นสองกลุ่มจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรงบประมาณของแต่ละจังหวัดในกลุ่มสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มจังหวัดอื่นๆ ในส่วนความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรงบประมาณทั้งประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน สำหรับปัจจัยที่กำหนดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด ภาษีที่จัดเก็บได้ และสัดส่วนวัยพึ่งพิงต่อประชากรในจังหวัด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันอยู่เดิม ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจัดสรรงบประมาณจังหวัดโดยใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกำหนด ย่อมทำให้การจัดสรรงบประมาณจังหวัดมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น