Abstract:
ศึกษาบทบาทของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการมีส่วนร่วมจัดทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรคและวิธีการปรับปรุงในการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์จากการเจรจา และชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในอนาคต ในการเป็นองค์กรที่สามารถดำเนินการรักษาผลประโยชน์ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ระยะเวลาของการศึกษาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปีปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2551) ซึ่งจะเน้นการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าเกษตรเป็นส่วนใหญ่ใน 3 ระดับคือ ระดับพหุภาคีภายใต้กรอบ WTO การเปิดการค้าเสรีในระดับภูมิภาค อาทิ อาเซียน-จีนและในระดับทวิภาคี ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย เป็นต้น การศึกษาจะใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งทฤษฎีที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม (Corporatism) ทฤษฎีพาณิชย์นิยมใหม่ (Neo mercantilism) เพื่อวิเคราะห์วิธีการของกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจในการดำเนินธุรกิจให้ได้ดุลการค้า และทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) เพื่อวิเคราะห์วิธีการดำเนินธุรกิจการค้าให้เสรีมากที่สุด รวมทั้งทฤษฎีอำนาจเชิงสัมพันธ์ (Relational power) และส่วนประกอบ 6 เสาหลักที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของประเทศไทยและคู่เจรจาข้อตกลงการค้าเสรี
ผลการศึกษาพบว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไม่มีบทบาทมากนักในการมีส่วนร่วมและกำหนดเงื่อนไขของการเจรจา เพราะมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น ปัจจัยเรื่องเงินทุน ทำให้ขาดงานวิจัยขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่ทำงานประจำ ทำให้ไม่สามารถทำงานในเชิงรุกและให้ความรู้ ตลอดจนสร้างศักยภาพแก่สมาชิกเพื่อการแข่งขันในตลาดโลกภายใต้เงื่อนไขของการค้า การลงทุนที่ถูกกำหนดโดยประเทศพัฒนาแล้วที่ยังคงใช้นโยบายกีดกันการค้าภายใต้ข้อตกลงการค้า ที่มีจุดประสงค์ให้เกิดระบบการค้าที่เสรีมากที่สุด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงต้องเพิ่มค่าสมาชิกให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย กรรมการต้องเพิ่มเวลาทำงาน เพิ่มนักวิชาการ เพื่อนำไปสู่ยุคใหม่ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เป็นมืออาชีพที่น่าเชื่อถือ และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีพลังในการกำหนดแนวทางเศรษฐกิจของประเทศ