Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศมาเลเซียและประเทศไทยที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายต้นแบบอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว โดยเน้นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างร่างกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศมาเลเซียและพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ของประเทศไทย ว่าหลังจากการรับกฎหมายต้นแบบอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศมาใช้แล้วมีปัญหาใดเกิดขึ้นบ้าง จากการศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนพบว่าบทบัญญัติส่วนใหญ่ของกฎหมายอนุญาโตตุลาการทั้งสองประเทศนั้น มีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการรับเอากฎหมายต้นแบบอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL) มาใช้เกือบทั้งหมด มีเพียงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยที่ได้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับกฎหมายของแต่ละประเทศ หลังจากการรับเอากฎหมายต้นแบบฯ มาเป็นหลักในการร่างกฎหมายใหม่ของตนแล้วพบว่ามีปัญหาในทางปฎิบัติบางประการ โดยผู้เขียนได้ตั้งประเด็นปัญหาไว้ 6 ประการ คือ ความรับผิดของอนุญาโตตุลาการ การไม่แบ่งแยกระหว่างการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและการอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ เขตอำนาจและบทบาทของศาล การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ จำนวนอนุญาโตตุลาการ และเรื่องการกำหนดข้อบังคับเพิ่มเติมของหลักการเลือกใช้และเลือกไม่ใช้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นและได้เสนอความคิดเห็นที่มีต่อปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากได้รับการพิจารณานำมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเช่นว่านั้น จะส่งผลให้ระบบกฎหมายอนุญาโตตุลาการได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับจากนานาอารยะประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์การระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไปในอนาคต