Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีเป้าหมายเพื่ออธิบายสวัสดิการสำหรับแรงงานข้ามชาติในสังคมการผลิตแบบเสรีนิยมใหม่ ผ่านมุมมองภววิทยาทางเศรษฐกิจการเมือง โดยชี้ให้เห็นถึงพลวัตรของกลไกการผลิตซ้ำในระบบทุนนิยมที่มุ่งแปรเปลี่ยนแรงงานในฐานะมนุษย์ให้เป็นแรงงานในฐานะสินค้าและเกิดภาวะการแปลกแยกและไร้อำนาจในหมู่ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ โดยเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในจัดหวัดสมุทรปราการ ผู้เกี่ยวข้อง และการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่สนามวิจัยระหว่างปี 2553-2555
ผลการศึกษาสวัสดิการในฐานะกลไกการผลิตซ้ำในระบบทุนนิยมผ่านกรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในจังหวัดสมุทรปราการ ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์การผลิตแบบทุนนิยมในกระแสเสรีนิยมใหม่ที่มีลักษณะดังนี้ 1.มีกระบวนการทำให้เป็นสินค้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ใช้แรงงานที่อำนาจการต่อรองต่ำอย่างแรงงานข้ามชาติ 2.สภาพการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ใช้แรงงานรับผิดชอบต่อความเสี่ยงในระบบทุนนิยมมากขึ้น เช่นการจ้างแรงงานข้ามชาติแบบเหมาค่าแรง รับงานกลับมาทำที่บ้านหรือการจ้างลักษณะชั่วคราว 3.ระบบสวัสดิการได้มีการแปรสภาพให้เป็นการรับผิดชอบของปัจเจกชนมากขึ้น ผ่านระบบสวัสดิการแบบเน้นค่าจ้าง และด้วยเงื่อนไขข้างต้นนำสู่ 4. ปรากฏการณ์การขยายตัวของกลุ่ม “แรงงานเสี่ยง”-Precariat อันมีลักษณะแตกต่างจากชนชั้นกรรมาชีพ แรงงานเสี่ยงคือกลุ่มแรงงานที่ถูกถ่ายโอนความเสี่ยงจากชนชั้นนายทุน และถูกวางเงื่อนไขให้การต่อสู้เพื่อประโยชน์ทางชนชั้นเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
การวิเคราะห์สวัสดิการในทางภววิทยาอันปรากฏในงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึง แนวทางการจัดสวัสดิการในสังคมเสรีนิยมใหม่ที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างเป็นองค์รวมผ่านมิติหลักคือ ความถ้วนหน้าที่ต้องข้ามผ่านความเป็นพลเมืองของรัฐชาติและมิติการลดระดับการทำให้เป็นสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการแปลกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมการผลิต