Abstract:
การวิจัยเรื่องนี้มุ่งศึกษาถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามกลไกรัฐธรรมนูญและนอกเหนือกลไกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค์ในการใช้ช่องทางกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยศึกษากรณีการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลการศึกษาพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีบทบัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ โดยเปิดให้มีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมืองทุกขั้นตอนและจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีส่วนร่วมในหลายๆ ระดับหลายๆ รูปแบบเพื่อให้การเมืองเป็นของพลเมืองอย่างแท้จริง จากกรณีศึกษาพบว่าประชาชนมีการตื่นตัวทางการเมืองสูงโดยการรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับรัฐในระดับนโยบายเพื่อกำหนดวิถีชีวิตของตน โดยอ้างสิทธิอันชอบธรรมผ่านกลไกปกติตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 44, 46, 56 และมาตรา 59 จากการเรียกร้องที่ยาวนาน กลไกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังตราไม่ครบตามบทบัญญัติ กฎหมายเก่าหลายฉบับที่ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม รวมทั้งแรงเสียดทานด้านทัศนคติและท่าทีของภาครัฐไม่ตอบสนองต่อความตื่นตัวและความพยายามเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน จากปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอยู่ในระดับของการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่สามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เมื่อการอ้างสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยอาศัยช่องทางปกติ ไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องได้เท่าที่ควร จึงส่งผลให้เกิดรูปแบบใหม่ของการมีส่วนร่วมโดยใช้กลไกที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่วมเอาการกระทำที่รุนแรงและหมิ่นเหม่ต่อความผิดทางกฎหมายเข้ามาเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมที่ชอบธรรม เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงสิทธิที่ถูกปิดกั้นไว้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนตัวเข้าสู่การเมืองใหม่ที่เน้นบทบาทของภาคประชาชนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งเป็นเหตุให้สถานการณ์ในพื้นที่มีความขัดแย้งและตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และมีโอกาสเผชิญหน้ากันได้ตลอดเวลา