Abstract:
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2542 มีหลักว่าพฤติกรรมการตกลงร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อจำกัดการแข่งขันตามมาตรา27(5)คือ การแบ่งท้องที่หรือแบ่งลูกค้า ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะจำหน่ายสินค้าหรือบริการ หรือมาตรา 27(6)การกำหนดแบ่งท้องที่หรือแบ่งตัวผู้ประกอบธุรกิจที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ และมาตรา 27(7) การกำหนดปริมาณของสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต ซื้อ จำหน่าย หรือบริการ เพื่อจำกัดปริมาณให้ ต่ำกว่าความต้องการของตลาด พฤติกรรมที่กล่าวมานี้ตามกฎหมายไทยเป็นความผิด แต่อาจขออนุญาตเพื่อกระทำได้ ซึ่งหากพิจารณาจากลักษณะของพฤติกรรมแล้ว พฤติกรรมทั้ง 3 รูปแบบนี้น่าจะถูกจัดอยู่ในส่วนของพฤติกรรมที่ร้ายแรง ไม่อาจขออนุญาตได้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นความผิดในตัวเองอย่างชัดเจน และในส่วนของพฤติกรรมที่สามารถขออนุญาตได้ นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัตินี้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยื่นขออนุญาตแม้แต่รายเดียว จึงเป็นปัญหาที่จะต้องนำมาแก้ไขปรับปรุงระบบของการขออนุญาตให้สามารถบังคับใช้ได้จริง ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอแนะให้ในกรณีแรก พฤติกรรมตามมาตรา 27(5)-(7) ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มของพฤติกรรมที่ร้ายแรง ไม่สามารถขออนุญาตเพื่อกระทำได้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ เปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ และพิจารณาจากบริบทของประเทศไทย ในกรณีที่สอง ระบบการขออนุญาตยังคงใช้บังคับอยู่โดยมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ละเอียดชัดเจนพร้อมทั้งระบุขั้นตอนการขออนุญาตและเหตุผลในการพิจารณาอนุญาตอย่างเหมาะสม โดยมีการเพิ่มข้อยกเว้นให้การกระทำบางรูปแบบและระบุยกเว้นให้สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่ตกลงร่วมกันจำกัดการแข่งขันโดยไม่ต้องขออนุญาต