Abstract:
การใช้เทคนิคให้ยาสลบทุกตัวเข้าหลอดเลือดดำ (TIVA) เพื่อคงระดับการสลบในม้า กรณีทำศัลยกรรมขนาดเล็ก ช่วงเวลาสลบไม่เกิน 1 ชั่วโมง เป็นเทคนิคที่ดีและเหมาะสมในการวางยาสลบม้าภาคสนาม สารละลายยาสูตร “triple drip” ซึ่งประกอบด้วย ไซลาซีน เคตามีน และกัวฟีนีซีน เป็น TIVA ที่นิยม แต่ข้อจำกัดของการซื้อขายเคตามีนในประเทศไทย ทำให้นิยมใช้ไทเลทามีน-โซลาซีแพมทดแทนเคตามีน ไทเลทามีนเป็นยากลุ่มเดียวกับเคตามีน สามารถนำสลบได้รวดเร็วและนุ่มนวล ม้าฟื้นจากสลบได้ดี และออกฤทธิ์ได้นานกว่าเคตามีน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาผลของการใช้ไซลาซีนร่วมกับไทเลทามีน-โซลาซีแพม โดยให้เข้าหลอดเลือดดำแบบต่อเนื่องเพื่อคงระดับการสลบขณะผ่าตัด จึงเป็นเหตุผลให้ผู้วิจัยต้องการศึกษาผล และขนาดของสารละลายดังกล่าว โดยศึกษาในม้าเพศผู้ สุขภาพแข็งแรง จำนวน 18 ตัว ซึ่งรับไซลาซีนขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำเพื่อเตรียมสลบ
จากนั้นม้าจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม กลุ่มที่หนึ่งรับเคตามีน ขนาด 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนำสลบ และสารละลาย triple drip คงระดับการสลบด้วยอัตราเร็ว 1 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อชั่วโมง กลุ่มที่สองนำสลบด้วย ไทเลทามีน-โซลาซีแพม ขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และคงระดับการสลบด้วยสารละลายไซลาซีน-ไทเลทามีน-โซลาซีแพม ด้วยอัตราเร็วที่เท่ากัน ขณะสลบอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ระดับความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกาย ของม้าทุกตัว อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ทางคลินิก และไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม แต่อัตราการให้ยา 1 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อชั่วโมง ไม่เพียงพอในการคงระดับการสลบเพื่อการผ่าตัดทำหมัน ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ควรให้ยาด้วยอัตราเร็วเฉลี่ย 2.1 และ 2.9 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อชั่วโมง ในกลุ่ม triple drip และกลุ่มสารละลายใหม่ ตามลำดับ ค่าปริมาตรก๊าซในกระแสโลหิตส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่พบค่า pO₂ และ satO₂ มีแนวโน้มต่ำลงเมื่อเวลาสลบนานขึ้นในม้าทั้ง 2 กลุ่ม ระยะเวลาที่ใช้ในการนำสลบ คงระดับการสลบ และขณะฟื้นไม่มีความแตกต่างกัน คุณภาพในการนำสลบ คงระดับการสลบ และขณะฟื้น คล้ายคลึงกัน จึงสรุปได้ว่าการเตรียมสารละลายไซลาซีน-ไทเลทามีน-โซลาซีแพมมีความสะดวก และมีความปลอดภัยในการคงระดับการสลบเพื่อการผ่าตัดภาคสนาม