Abstract:
กลวิธีการเผชิญความเครียดเชิงรุก เป็นทฤษฎีการศึกษาการเผชิญความเครียด ในหลากหลายมิติ ซึ่งมองการเผชิญความเครียดเป็นเชิงบวกเพื่อการปรับตัวให้บรรลุไปถึง เป้าหมายที่ได้วางไว้ เน้นการพัฒนาตนเองมากกว่าแก้ปัญหาที่คุกคาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี ผู้พัฒนาแบบวัดกลวิธีการเผชิญความเครียดเชิงรุกเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยฉบับนี้ คือ เพื่อแปลและพัฒนาเครื่องมือแบบวัดกลวิธีการ เผชิญความเครียดเชิงรุก ฉบับภาษาไทย ให้มีความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือ ในระดับที่ยอมรับได้ การศึกษาดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างซึ่งเป็นนิสิต ระดับปริญญาตรี อายุ 18 ปี ขึ้นไป ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 308 คน โดยแต่ละท่านตอบแบบสอบถาม 1) ข้อมูล พื้นฐานทั่วไป และ 2) แบบวัดกลวิธีการเผชิญความเครียดเชิงรุกของ Greenglass, Schwarzer และ Taubert ซึ่งทดสอบ ความเที่ยงตรงและความเชื่อถือได้ของเครื่องมือแบบวัดโดยตรวจสอบ ความตรง (Validity) คือ ความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ (Content Validity) และ ความเที่ยง (Reliability) คือ ความสัมพันธ์ภายใน (Internal Consistency Reliability) โดยวิธีของ Cronbach (Cronbach's Alpha)
ผลการศึกษาพบว่า แบบวัดกลวิธีการเผชิญความเครียดเชิงรุกฉบับภาษาไทย มีความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือ ในระดับที่ยอมรับได้มีค่าสัมประสิทธ์อัลฟ่าของครอนบัค (Cronbach’s Alpha) ระหว่าง 0.70 – 0.81 ดังนั้นจึงสรุปว่า แบบวัดกลวิธีการ เผชิญความเครียดเชิงรุก ฉบับภาษาไทย ซึ่งประกอบไปด้วยข้อคำถาม 55 ข้อ แบ่งเป็น 7 มิติ ที่พัฒนามีค่าความเที่ยงตรงและความเชื่อถือ ในระดับที่ยอมรับได้ จำนวนข้อคำถามไม่มากเกินไป ที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติ และแต่ละมิติสามารถนำไป แยกใช้วิจัยตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการวัดในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเผชิญความเครียด และการเผชิญความเครียดเชิงรุกในประเทศไทย