Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับของความเครียด บุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและความเครียด และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางเพศหญิง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างคือพนักงานขับรถโดยสารประจำทางเพศหญิงทั้งหมด จำนวน 119 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบทดสอบบุคลิกภาพ MPI (The Maudsley Personality Inventory) และแบบวัดความเครียดสวนปรุง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, Chi-square test และ Logistic Regression Analysis
ผลการวิจัยพบว่า พนักงานขับรถโดยสารประจำทางเพศหญิง ส่วนใหญ่มีความเครียดระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 42.9 อย่างไรก็ตามพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความเครียดเท่ากับ 44.3 ซึ่งอยู่ในระดับเครียดสูง บุคลิกภาพส่วนใหญ่พบว่าเป็นแบบแสดงตัวและมั่นคงทางอารมณ์ (Extravert-Stable) คิดเป็นร้อยละ 46.2 ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและความเครียด พบว่า บุคลิกภาพแบบแสดงตัว-อ่อนไหวและบุคลิกภาพแบบเก็บตัว-อ่อนไหว มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < 0.001 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < 0.05 คือ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กิจกรรมจับจ่ายซื้อของในยามว่าง ความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบไม่ราบรื่น และความสัมพันธ์กับผู้จัดการสายแบบมีปัญหาขัดแย้งกันบ้าง ปัจจัยที่สามารถทำนายการเกิดความเครียด ได้แก่ การใช้ยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และบุคลิกภาพแบบแสดงตัว-อ่อนไหวและบุคลิกภาพแบบเก็บตัว-อ่อนไหว ผลการศึกษาที่ได้จะเป็นข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาวิธีการจัดการกับความเครียด และพัฒนางานด้านการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางเพศหญิง