Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ของการสนับสนุนทางสังคม และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มีต่อความพึงพอใจในชีวิตสมรส และความพึงพอใจในการเป็นผู้เลี้ยงดู ในกลุ่มตัวอย่างเป็นพ่อแม่มือใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 47 ปี จำนวน 1,815 คน ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการติดตามเพจที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหรือเป็นสมาชิกของกลุ่มบนเฟซบุ๊กที่พูดคุยกันเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการได้รับการสนับสนุนทางสังคม แบบสอบถามการใช้อินเทอร์เน็ตในการเลี้ยงดูบุตร แบบสอบถามความพึงพอใจในชีวิตสมรส และแบบสอบถามความพึงพอใจในการเป็นผู้เลี้ยงดู โดยเก็บข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย คือ สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson correlation) และการถดถอยเชิงพหุคูณ (multiple regression) ผลงานวิจัยพบว่า การได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ (β = 0.424, p < .05) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิตสมรสของพ่อแม่มือใหม่ ส่วนการได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ (β = .265, p < .05) และการได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านการประเมิน (β = 0.136, p < .05) รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในการเลี้ยงดูบุตรด้านอารมณ์ (β = 0.112, p < .05) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในการเป็นผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้การได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านข้อมูลข่าวสาร (β = -0.074, p < .05) มีความสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจในการเป็นผู้เลี้ยงดูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016