Abstract:
การศึกษาผลของการใช้ยาราปาไมซินต่อโรคเลปโตสไปโรซิสในหนูตะเภาที่มีภาวะเลือดออกในปอดอย่างรุนแรง โดยแบ่งหนูตะเภาอายุ 3 สัปดาห์ จำนวน 36 ตัว ออกเป็น 6 กลุ่มๆละ 6 ตัว ดังนี้คือ กลุ่ม 1 (Normal) เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่ม 2 (Rapa) เป็นกลุ่มที่ได้รับการป้อนราปาไมซิน ขนาด 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทางปาก กลุ่ม 3 (Lepto) เป็นกลุ่มที่ได้รับการฉีดเชื้อ Leptospira interrogans serovar pyrogenes ปริมาณ 0.5x10⁸ ตัว และ กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 (Lepto rapa hr₀, Lepto rapa hr24 และ Lepto rapa hr₄₈) เป็นกลุ่มที่ได้รับการฉีดเชื้อ L. interrogans serovar pyrogenes ปริมาณ 0.5x10⁸ ตัว และได้รับการป้อนราปาไมซินขนาด 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ในชั่วโมงที่ 0, 24 และ 48 ภายหลังการฉีดเชื้อ สุ่มหนูตะเภาจำนวน 2 ตัวในแต่ละกลุ่ม ในวันที่ 2, 4 และ 6 ทำการศึกษาทางพยาธิวิทยา การตรวจค่าทางโลหิตวิทยา การตรวจค่าชีวเคมีคลินิก เทคนิคฮิสโตเคมี Warthin-Starry การตรวจทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน และเทคนิคอิมมูนโนฮิสโตเคมี (immunofluorescence antibody technique; IFAT) ผลการศึกษาพบว่าภายหลังการฉีดเชื้อ 6 วัน หนูตะเภาในกลุ่ม Lepto rapa hr0, Lepto rapa hr₂₄ และ Lepto rapa hr₄₈ เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง และพบปื้นเลือดออกอย่างรุนแรงที่ผนังช่องท้อง ในขณะที่กลุ่ม Lepto เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างปานกลาง และพบจุดเลือดออกที่ผนังช่องท้องอย่างอ่อน ผลทางจุลพยาธิวิทยาที่ปอดพบว่าหนูตะเภากลุ่ม Lepto rapa hr₄₈ เกิดภาวะเลือดออกที่ปอดอย่างรุนแรง ในขณะที่กลุ่ม Lepto, Lepto rapa hr₀, Lepto rapa hr₂₄ เกิดภาวะเลือดออกที่ปอดปานกลาง ที่ตับพบว่ากลุ่ม Lepto rapa hr0 พบเพียงการบวมของเซลล์ตับ ในขณะที่ กลุ่ม Lepto rapa hr₂₄ และ Lepto rapa hr₄₈ พบการตายของเซลล์ตับเป็นหย่อมๆ ร่วมกับการแทรกตัวของเซลล์อักเสบชนิดนิวโทรฟิล และลิมโฟไซต์รอบๆ หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง และกลุ่ม Lepto พบการคั่งเลือดของ hepatic sinusoids อย่างรุนแรง สำหรับที่ไตพบว่ากลุ่ม Lepto rapa hr0 พบภาวะเลือดออกที่ไตเล็กน้อย ร่วมกับการบวมของเซลล์เยื่อบุท่อไต ในขณะที่กลุ่ม Lepto rapa hr₂₄ และ Lepto rapa hr₄₈ พบเลือดออกทั้งรอบๆหน่วยกรองไต และท่อไต ร่วมกับการบวมของเซลล์เยื่อบุท่อไต และกลุ่ม Lepto พบการตายของเซลล์เยื่อบุท่อไต ร่วมกับการแทรกตัวของนิวโทรฟิลจำนวนมากรอบๆหน่วยกรองไต และท่อไต ผลการศึกษาด้วยวิธี IFAT พบว่ากลุ่ม Lepto พบการสะสมของ IgM ที่ผนังถุงลมของปอด และที่หน่วยกรองไตอย่างชัดเจน กลุ่ม Lepto rapa hr₄₈ พบการสะสมของ IgM ที่ปอด และไตเล็กน้อย ในขณะที่กลุ่ม Lepto rapa hr₀ และ Lepto rapa hr₂₄ ไม่พบการสะสมของ IgM จากผลการทดลองสรุปว่ายาราปาไมซินสามารถลดการสะสมของ IgM ตลอดจนลดรอยโรคที่ปอด ตับ และไตในหนูตะเภาได้ เมื่อหนูตะเภาได้รับยาราปาไมซินหลังการฉีดเชื้อทันที แต่ยาราปาไมซินไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะเลือดออกที่ปอด และเมื่อได้รับยาราปาไมซินหลังการฉีดเชื้อ 48 ชั่วโมง ทำให้เกิดรอยโรคที่อวัยวะเหล่านั้นอย่างรุนแรงมากขึ้น