Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินการขับเคลื่อนและการเผยแพร่ข่าวสาร ลักษณะเครือข่ายการทำงานและกระบวนการสื่อสารผ่านเครือข่าย และปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการสื่อสารของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการศึกษาข้อมูลเอกสารต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี (2553-2555) ร่วมกับการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ตัวแทนจากสำนักประเมินผลและเผยแพร่การพัฒนา สศช. และภาคีการพัฒนาตาม 7 มิติของสังคมสีเขียว ได้แก่ ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การขนส่งและพลังงาน นวัตกรรมสีเขียว นวัตกรรมทางสังคม และการรับมือภัยพิบัติภายใต้การเติบโตสีเขียว ผลการวิจัยพบว่า
1) การดำเนินการขับเคลื่อน มี 4 ขั้นตอน คือ 1.สศช.สรุปข้อคิดเห็นและจัดทำร่างข้อเสนอจากภาคีการพัฒนาตาม 7 มิติ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 2.สศช.แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานบริหารการพัฒนาสังคมสีเขียวจากความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 3.หน่วยงานเจ้าภาพประสานการดำเนินงานกับหน่วยงาน/ภาคีการพัฒนา ได้แก่ คณะกรรมการระดับชาติ กระทรวง และจังหวัด 4.การติดตามและประเมินผล พบว่าการดำเนินการขับเคลื่อนมีการสื่อสารจากล่างขึ้นบน การเผยแพร่ มี 4 ลักษณะ คือ 1.การที่สศช.เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย 2.เผยแพร่ผ่านสื่อบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารไปร่วมระดมความเห็นในสื่อกิจกรรมที่องค์กรอื่นเป็นผู้จัด 3.เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน 4.เผยแพร่ในรูปแบบของการศึกษาวิจัยในภาคปฏิบัติการทั้งที่ดำเนินการเองและร่วมกับหน่วยงานอื่น
2) เครือข่ายการทำงาน มี 5 ประเภท ซึ่งช่วยให้สศช.สามารถเลือกการทำงานได้ ได้แก่ 1.เครือข่ายระดับนโยบาย(คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11) 2.เครือข่ายภาคีการพัฒนาตาม 7 มิติของสังคมสีเขียว 3.ภาคีเครือข่ายตามแต่ละภาค (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ) 4.เครือข่ายระดับภูมิภาค/พื้นที่(จังหวัดและส่วนท้องถิ่น) 5.คณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อการพัฒนาสังคมสีเขียว
3) การสื่อสารของเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนสังคมสีเขียวตาม 7 มิติ เป็นเครือข่ายแบบหลวมๆ ในลักษณะการขอความร่วมมือจากภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนในแต่ละมิติ(ประเด็น)ไว้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่มิใช่ภาครัฐซึ่งมีจุดแข็งอยู่ที่มีความสนใจในประเด็นสังคมสีเขียวอยู่แล้ว ส่วนภาครัฐมีจุดแข็งอยู่ที่ความคงทนถาวร ดังนั้น กระบวนการสร้างเครือข่ายจึงเป็นกลยุทธ์การประสานจุดแข็งของทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน ดังนั้น รูปแบบการสื่อสารภายในเครือข่ายจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างการสื่อสารแนวดิ่งของภาครัฐกับแนวราบหรือการมีส่วนร่วมของภาคอื่นๆที่มิใช่รัฐ
4) ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการสื่อสารในการขับเคลื่อนสังคมสีเขียว คือ ปัจจัยส่งเสริมต่อการขับเคลื่อน ได้แก่ (1)ความตระหนัก (2)ปัจจัยทางด้านองค์กร การมีเจ้าภาพและเป็นผู้นำเครือข่าย (3)การสื่อสาร ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อน ได้แก่ (1)ความเข้าใจและความตระหนัก (2)ปัจจัยทางด้านองค์กร และการขับเคลื่อนของเครือข่าย (3)เศรษฐกิจ และกฎหมาย