Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพหลักเกณฑ์การกำกับธนาคารพาณิชย์ 2 หลักเกณฑ์ คือ การกันสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญวิธี Dynamic และ Risk-based และการดำรงเงินกองทุนตามสมมติฐานของวิธี Basel I และ Basel II โดยวิเคราะห์ผลใน 2 ส่วน คือ ผลของหลักเกณฑ์การกำกับที่ใช้เพื่อปรับให้ การขยายตัวของสินเชื่อมีเสถียรภาพ และวิเคราะห์ผลที่เกิดต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์โดยใช้อัตราส่วนทางการเงินที่สะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานและความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของหลักเกณฑ์การกำกับธนาคารพาณิชย์ ภายใต้สมมติฐานการปล่อยสินเชื่อมีเสถียรภาพ พบว่า การกันสำรองฯตามวิธี Dynamic ให้ค่าเงินกันสำรองฯมีทิศทางที่ช่วยปรับพฤติกรรมสินเชื่อให้มีความผันผวนลดลงโดยปริมาณเงินกันสำรองจะเพิ่มขึ้นหากสินเชื่อมี การขยายตัวและเงินกันสำรองฯจะปรับตัวลดลงหากสินเชื่ออยู่ในช่วงหดตัว ผลการศึกษาที่ได้จากหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน Basel II พบว่า หากธนาคารพาณิชย์คำนวณเงินกองทุนตามวิธี Standardized approach โดยกำหนดให้สินเชื่อที่นำมาคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงคือปริมาณสินเชื่อ ที่เหมาะสม พฤติกรรมของเงินกองทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงที่อิงตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหากเทียบกับพฤติกรรมเงินกองทุนตาม Basel I เนื่องจากวิธี Basel II มีการคำนวณน้ำหนักความเสี่ยง ที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจอันเป็นเหตุให้อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ถูกจัดอับดับเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันจำนวนของบริษัทที่ถูกจัดอันดับก็มีผลต่อปริมาณเงินกองทุนเช่นกัน หากปริมาณของบริษัทที่ถูกจัดอันดับมีจำนวนไม่สูงมากความผันผวนของปริมาณเงินกองทุนก็จะลดความรุนแรงลง โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของหลักเกณฑ์ 2 หลักเกณฑ์ข้างต้น ซึ่งต่างก็มีพฤติกรรมที่สามารถช่วยปรับให้การขยายตัวของสินเชื่อมีเสถียรภาพได้ พบว่า การนำวิธีการกันสำรองฯตาม วิธี Dynamic สามารถที่จะก่อให้เกิดภาระทางต้นทุนในแง่ที่จะนำส่วนที่ต้องกันไว้สำหรับความสูญเสียที่จะเกิดจากความเสี่ยงด้านเครดิตในจำนวนที่น้อยกว่าการดำรงเงินกองทุนตามวิธี Basel II ผลการศึกษาในส่วนที่วิเคราะห์ประสิทธิภาพการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์จาก อัตราส่วน RAROC พบว่า ผลที่ได้จากกรอบสมมติฐานที่กำหนดให้ใช้การกันสำรองฯตามวิธี Dynamic และ การดำรงเงินกองทุน Basel II ให้ค่าของอัตราส่วนที่สูงที่สุด ในขณะที่ค่าที่มีความผันผวนน้อยที่สุดคือค่าที่เกิดจาการใช้การกันสำรองฯตามวิธี Risk-based และการดำรงเงินกองทุนตามวิธี Basel II แต่ค่าดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก