Abstract:
เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการระงับปวดหลังการผ่าตัดของบิวพิวาเคนกับทรามาดอล โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อและชั้นใต้ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัดก่อนการเย็บปิดในสุนัขเพศเมีย 30 ตัว ที่ได้รับการทำหมัน ซึ่งแบ่งโดยการสุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มควบคุม (N) ได้รับน้ำเกลือนอร์มอลซาลีน 0.8 มล./กก. กลุ่มบิวพิวาเคน (B) ได้รับบิวพิวาเคนความเข้มข้น 0.5 % ขนาด 2 มก./กก. กลุ่มทรามาดอล (T) ได้รับยาทรามาดอล (ความเข้มข้น 50 มก./มล.) ขนาด 2 มก./กก. ปริมาตรยาที่ฉีดเข้าแผลผ่าตัดของทุกกลุ่มถูกเจือจางด้วยน้ำเกลือจนมีปริมาตรรวม 0.8 มล./กก.ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ของค่าเฉลี่ยสัญญาณชีพต่างๆ ระหว่างผ่าตัดในสุนัขกลุ่มต่างๆ และมีค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดระยะเวลาของการผ่าตัด สุนัขทุกตัวมีช่วงเวลาการหายของแผลเป็นปกติใน 10 วัน โดยไม่พบข้อแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดแต่อย่างใด ระยะเวลาของการระงับปวดภายหลังการผ่าตัดด้วยวิธีฉีดยาเข้าที่แผลผ่าตัดของสุนัขในกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 48 ± 6.63 นาที ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มบิวพิวาเคนซึ่งมีค่าฉลี่ยเท่ากับ 561 ± 70.15 นาที และกลุ่มทรามาดอลซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 339 ± 84.38 นาที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ปริมาณมอร์ฟีนเฉลี่ยที่สุนัขได้รับในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงภายหลังถอดท่อช่วยหายใจของกลุ่มบิวพิวาเคน มีค่าเท่ากับ 0.14 ± 0.04 มก./กก. และกลุ่มทรามาดอล เท่ากับ 0.24 ± 0.05 มก./กก.น้อยกว่ากลุ่มควบคุม (0.53 ± 0.03มก./กก.) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จากการศึกษาสรุปว่า การฉีดทรามาดอลเข้าแผลผ่าตัดภายหลังการทำหมันสุนัขเพศเมียสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยมีประสิทธิภาพลดคะแนนความปวดในช่วง 5 ชั่วโมงแรกภายหลังการผ่าตัด และลดปริมาณยาระงับปวดในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงภายหลังการผ่าตัด