Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะความสูงของส่วนโค้งของกระดูกแอตลาสกับลักษณะโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะในแนวดิ่ง และนำค่าระยะความสูงของส่วนโค้งของกระดูกแอตลาสมาใช้พยากรณ์ลักษณะโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะในแนวดิ่งในคนไทย ได้ทำการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาทันตกรรมจัดฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 180 คน อายุ 15-25 ปี ประกอบด้วยเพศชาย จำนวน 90 คน และเพศหญิงจำนวน 90 คน กลุ่มตัวอย่างแต่ละเพศประกอบด้วย ตัวอย่างที่มีลักษณะโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะในแนวดิ่งแบบสบเปิดจำนวน 30 คน สบปกติจำนวน 30 คน และสบลึกจำนวน 30 คน นำภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างของกลุ่มตัวอย่างมาลอกรายละเอียด วัดค่ามุม SN-GoGn มุม FMA มุม Y axis-FH ค่าระยะทาง AR-Go ค่าอัตราส่วน SGo/NMe (ร้อยละ) ค่าระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหน้าและค่าระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหลังของกระดูกแอตลาส จากการใช้สถิติวิเคราะห์ความแตกต่างแบบที พบว่าเช่าระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหน้าและค่าระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหลังของกระดูกแอตลาส ในเพศชายและหญิงมีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 ผลการวิจัยพบว่าค่าระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหน้าและระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหลังของกระดูกแอตลาส มีความสัมพันธ์กับค่ามุม SN-GoGn และค่ามุม FMA ในทิศทางตรงกันข้าม และมีความสัมพันธ์กับค่าระยะทาง Ar-Go และค่าอัตราส่วน SGo/NMe (ร้อยละ) ในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ค่ามุม Yaxis-FH มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหลังของกระดูกแอตลาส โดยไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหน้าของกระดูกแอตลาส และเมื่อวิเคราะห์สมการถดถอยด้วยวิธีสเตปไวส์ พบว่า ค่าระยะความสูงของส่วนโค้งด้านหลังของกระดูกแอตลาสถูกเลือกใช้ในการพยากรณ์ลักษณะโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะในแนวดิ่ง โดยสามารถใช้พยากรณ์ค่าอัตราส่วน SGo/NMe (ร้อยละ) ได้ดีที่สุดทั้งในเพศชายและหญิง และใช้พยากรณ์ค่ามุม SN-GoGn และ FMA ในเพศหญิงและค่ามุม SN-GoGn ในเพศชายได้ดีในอันดับรองลงมา