Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ ศึกษากระบวนการของการเกิดกลุ่มผลักดันเรื่องวิทยุชุมชนในประเทศไทย วิธีการของกลุ่มในการผลักดันให้เกิดนโยบายวิทยุชุมชนและให้มีการนำไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งปัญหาและอุปสรรคในทางกฎหมายและนโยบายของรัฐที่มีผลต่อการดำเนินการวิทยุชุมชนภาคประชาชน วิธีดำเนินการวิจัยเป็นการพรรณนาและวิเคราะห์ข้อมูล ที่ได้มาจากการสำรวจและรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิทยุชุมชน และการสัมภาษณ์ตัวแทนของกลุ่มผลักดันเรื่องวิทยุชุมชนภาคประชาชน การวิจัยพบตามสมมติฐานว่าโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 40 ให้แบ่งการถือครองคลื่นความถี่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภาคประชาชนจึงมุ่งกระทำการให้วิทยุชุมชนภาคประชาชนเกิดขึ้นจริง นับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐบาลที่มีแนวทางการจัดทำวิทยุชุมชนที่มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับเนื้อหาเท่านั้น องค์กรภาคประชาชนจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลักดันเรื่องวิทยุชุมชน 3 กลุ่ม เพื่อผลักดันนโยบายรองรับสิทธิการดำเนินการวิทยุชุมชนภาคประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชนมีลักษณะเป็นกลุ่มทัศนคติที่เป็นองค์กรประชาสังคม ซึ่งดำเนินการทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติมีลักษณะเป็นทั้งกลุ่มผลประโยชน์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและกลุ่มทัศนคติด้วย ทำให้การเคลื่อนไหวต้องอาศัยความร่วมมือกับอีกสององค์กร เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นองค์กรประชาสังคม มากกว่ากลุ่มผลประโยชน์ที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มตน นอกจากนี้ พบว่าในกระบวนการผลักดันนโยบาย กลุ่มผลักดันเรื่องวิทยุชุมชนมีฐานะเป็นกลุ่มวงนอก ทำให้ต้องใช้วิธีการผลักดันทั้งทางตรงและทางอ้อม การกระทำทางตรง รวมถึงการสร้างเครือข่าย เพื่อเปิดช่องทางและสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ ยังผลให้กลุ่มกลายเป็นกลุ่มวงในได้ชั่วขณะในขั้นตอนการกำหนดนโยบาย แต่เนื่องจากรัฐบาลและหน่วยราชการคือกรมประชาสัมพันธ์มีผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันในเรื่องวิทยุชุมชน ในขั้นตอนการปฏิบัตินโยบายจึงบิดเบือนนโยบายวิทยุชุมชนไปในแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ ด้วยปฏิบัติการตีกรอบการดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชน และกีดกันกลุ่มผลักดันเรื่องวิทยุชุมชนออกจากกระบวนการนโยบาย จนกลายเป็นกลุ่มวงนอกอีกครั้ง และไม่สามารถต่อรองให้มีการนำนโยบายวิทยุชุมชนไปสู่การปฏิบัติตามความความต้องการของกลุ่มได้