Abstract:
เก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดคอในเต่าบัวโตเต็มวัย (Hieremys annandalii) ในธรรมชาติ เพศผู้และเมีย กลุ่มละ 20 ตัว จากการศึกษานี้พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนเม็ดเลือดแดงทั้งหมดเท่ากับ 2.75+0.94x 106เซลล์/มคล. จำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมดเท่ากับ 11.66+6.59 x 103เซลล์/มคล. เม็ดเลือดขาวแบ่งเป็น 5 ชนิด จำนวนเรียงจากมากไปน้อย คือ เฮเทอโรฟิล (29.40+6.88%) อีโอสิโนฟิล (23.69+5.30%) เบโซฟิล (21.23+1.90%) ลิมโฟไซต์ (14.81+5.88%) และโมโนไซติก-ไลต์ อะซูโรฟิล (10.73+5.29%) เม็ดเลือดแดงติดสีเข้มของ peroxidase ทรอมโบไซต์มีหลายรูปร่าง การติดสี periodic acid-Schiff ไม่สามารถใช้แยกทรอมโบไซต์ออกจากลิมโฟไซต์ และมีโครงสร้างทางจุลทรรศน์อิเล็กตรอนคล้ายกับเกล็ดเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เฮเทอโรฟิล และอีโอสิโนฟิลมีลักษณะโครงสร้างและการติดสีไซโตเคมีคล้ายกับเต่าและสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป เบโซฟิลมีการพัฒนาการของโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับสัตว์ปีก ส่วนลิมโฟไซต์ และโมโนไซติก-ไลต์ อะซูโรฟิลมีโครงสร้างและการติดสีไซโตเคมีคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ค่า MCHC จำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซติก-ไลต์ อะซูโรฟิล และเอนไซม์ ALT ในเต่าเพศผู้มีค่าสูงกว่าในเพศเมียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่า MCV ของเต่าเพศผู้มีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับน้ำหนักตัว เต่าบัวที่พบการติดเชื้อ Hemogregarine มีค่าเอนไซม์ AST สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่ค่าพยาธิวิทยาคลินิกอื่นๆ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับเต่าที่ไม่พบการติดเชื้อ ในเต่าบัวที่กระดองแตก ตัวบวม และไม่กินอาหาร พบจำนวนเม็ดเลือดขาวและทรอมโบไซต์ ค่ากรดยูริค โปรตีนโกลบูลิน และแคลเซียมในเลือดสูงกว่าเต่าปกติ รวมทั้งพบจำนวนเม็ดเลือดแดง และโปรตีนอัลบูมินต่ำกว่าเต่าปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ซึ่งค่าพยาธิวิทยาคลินิกดังกล่าวสรุปได้ว่าเต่าป่วยมีภาวะโลหิตจาง มีการอักเสบติดเชื้อแบบเรื้อรัง ร่วมกับภาวะทุโภชนาการ จากการขาดอาหาร และได้รับอาหารที่มีโปรตีน และแคลเซียมที่ไม่เหมาะสม ข้อมูลจากการศึกษานี้เป็นประโยชน์ในการนำไปดูแลจัดการ และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่ออนุรักษ์ประชาการเต่าเหล่านี้ในประเทศไทยต่อไปในอนาคต