Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาบทบาทของจีนต่อวิกฤตินิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี คือ ระหว่างปี ค.ศ. 1992 – 2006 การศึกษานี้ได้นำเอาทฤษฎีการเชื่อมโยง ของ เจมส์ เอ็น. โรสเนา หรือกรอบความคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพัน (linkage politics) เป็นแนวในการวิเคราะห์ โดยวิทยานิพนธ์นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ปัจจัยภายนอกประเทศเป็นแรงผลักดันมากกว่าปัจจัยภายในประเทศต่อการตัดสินใจของจีน ในการเข้าไปมีบทบาทในวิกฤตินิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี จากการศึกษาพบว่า บทบาทของจีนมีผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของจีนต่อคาบสมุทรเกาหลี ในการมุ่งรักษาสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี และความต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ มีส่วนทำให้จีนเข้าไปมีบทบาทต่อวิกฤตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจากปัญหาโครงการพัฒนาและครอบครัวอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรคือ เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ต่างหวั่นกลัวต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือดังนั้น จีนจึงเข้าไปมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์และใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ด้วยการเข้าไปเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย เจ้าภาพในการเจรจา ตลอดจีนคอยโน้มน้าวเกาหลีเหนือให้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพ 4 ฝ่ายและการเจรจาสันติภาพ 6 ฝ่าย ในส่วนปัจจัยภายในของจีน ได้แก่ แนวคิดของผู้นำ นโยบายภายในประเทศต่าง ๆ ความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ และนโยบายการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ เป็นต้น ในขณะที่ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความสำคัญทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ แรงผลักดันจากมหาอำนาจและอื่น ๆ ตลอดจนภาวะโลกาภิวัตน์ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้จีนต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีและเอเชียตะวันออกมีเสถียรภาพ จะได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศของจีนให้ดำเนินต่อไปด้วยความราบรื่นและยั่งยืน