Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจเลือกลงทุนระหว่างตลาดทุนสหรัฐฯ กับตลาดทุนต่างประเทศ อาทิเช่น แคนาดา อังกฤษ และญี่ปุ่น และศึกษารูปแบบการคาดการณ์ของนักลงทุนว่ามีลักษณะเป็น Forward-looking หรือ Backward-looking expectation รวมทั้งคาดการณ์แนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ว่าจะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือปรับตัวอย่างทันทีทันใด โดยใช้แบบจำลอง Augmented UIP ตาม Flood และ Marion(2000) และ Sarantis(2006) จากผลการศึกษา พบว่า นักลงทุนในตลาดทุนมีการคาดการณ์ค่าเงินดอลลาร์เป็นแบบ Forward-looking expectation และพิจารณาปัจจัยเสี่ยงในมุมที่แตกต่างไปจากการศึกษาของ Flood และ Marion(2000) และ Sarantis(2006) สำหรับปัจจัยที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจลงทุน ซึ่งน่าจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว ได้แก่ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐฯและต่างประเทศ ความผันผวนคาดการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยน ปฏิกิริยาระหว่างความผันผวนคาดการณ์ค่าเงินสกุลต่าง ๆ กับสัดส่วนมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯและต่างประเทศ ส่วนต่างระหว่างดัชนีราคาบ้านของสหรัฐฯและต่างประเทศ ปริมาณการส่งออกของประเทศทางแถบเอเชียไปยังตลาดสหรัฐฯ และราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในตลาดโลก จากการศึกษาสรุปได้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะมีการปรับตัวอย่างทันทีทันใด เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนในตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งนักลงทุนยังพิจารณาปัจจัยเสี่ยงแตกต่างไปจากที่ควรจะเป็นตามทฤษฎี