Abstract:
ตลาดการเงินเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญในการระดมเงินทุนจากผู้มีเงินออมไปให้แก่ผู้ที่ต้องการเงินทุน อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบการเงินของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงทำการศึกษาถึงภาพรวมการออมในตลาดการเงิน รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อการออมในตลาดการเงิน ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน และความสัมพันธ์ของการออมในแต่ละตลาด ในลักษณะของการโยกย้ายเงินออมระหว่างตลาด ซึ่งพิจารณาจากปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและมูลค่าพันธบัตรรัฐบาล โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิรายไตรมาส ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 – 2549 มาทำการวิเคราะห์และประมาณค่าด้วยวิธีการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุ และแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรก คือ ช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2533 – 2549) ช่วงที่สอง คือ ช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2533 – 2539 ) และช่วงสุดท้าย คือ ช่วงหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2540 – 2549) ผลการศึกษาจากการประมาณค่าแบบจำลองทั้ง 3 ตลาด พบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจบางปัจจัยมีผลต่อการออมแต่ละตลาดในตลาดการเงินแตกต่างกันในช่วงก่อนและหลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงการโยกย้ายเงินออมระหว่างแต่ละตลาดก็มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงการศึกษา กล่าวคือ ในช่วงแรก (พ.ศ. 2533 -2549) พบว่า มีการโยกย้ายเงินออมระหว่างการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์กับการออมในรูปของพันธบัตรรัฐบาล และระหว่างการออมในรูปหลักทรัพย์กับการออมในรูปพันธบัตรรัฐบาล สำหรับช่วงที่สอง (พ.ศ. 2533 – 2539) พบว่า มีการโยกย้ายเงินออมระหว่างทั้งสามตลาด ขณะที่ผลการศึกษาในช่วงที่สาม (พ.ศ. 2540 – 2549) พบว่า มีการโยกย้ายเงินระหว่างการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์กับการออมในรูปของพันธบัตรรัฐบาล และระหว่างการออมในรูปหลักทรัพย์กับการออมในรูปพันธบัตรรัฐบาล