Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ศึกษาปัจจัยสาเหตุทางด้านแรงจูงใจ และปัจจัยผลด้านความเหนื่อยหน่ายในงานของการติดงานและความผูกใจมั่นในงาน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้ คือ พนักงานที่ปฏิบัติงานในบริษัทเอกชน จำนวน 650 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดแรงจูงใจในการทำงาน, มาตรวัดการติดงาน, มาตรวัดความผูกใจมั่นในงาน และมาตรวัดความเหนื่อยหน่ายในงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL)
ผลการวิจัยพบว่า 1) โมเดลเชิงสาเหตุและเชิงผลของการติดงานและความผูกใจมั่นในงานสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) การติดงานมีแรงจูงใจมาจากการควบคุมพฤติกรรมจากการปลูกฝังทางสังคม (β = .23, p < .05) และการควบคุมพฤติกรรมจากอัตลักษณ์ (β = .48, p < .001) ในทิศทางบวก แต่มีแรงจูงใจมาจากการควบคุมพฤติกรรมจากภายในในทิศทางลบ (β = -.19, p < .05) 3) ความผูกใจมั่นในงานมีแรงจูงใจมาจากการควบคุมพฤติกรรมจากอัตลักษณ์ (β = .82, p < .001) และการควบคุมพฤติกรรมจากภายใน (β = .45, p < .001) ในทิศทางบวก แต่มีแรงจูงใจมาจากการควบคุมพฤติกรรมจากการปลูกฝังทางสังคมในทิศทางลบ (β = -.58, p < .05) 4) การติดงานส่งอิทธิพลทางตรงในทิศทางบวกต่อความเหนื่อยหน่ายในงาน (β = .17, p < .001) ขณะที่ความผูกใจมั่นในงานส่งอิทธิพลทางตรงในทิศทางลบต่อความเหนื่อยหน่ายในงาน (β = -.52, p < .001)