Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงการนำมาตรการต่อรองคำรับสารภาพมาใช้กับองค์กรอาชญากรรม เนื่องจากประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้ง ในลักษณะองค์กร ค.ศ.2000 ซึ่งได้กำหนดมาตรการดังกล่าวไว้ในอนุสัญญาฯ ข้อ 26 โดยทำการศึกษาถึง มาตรการที่ใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ที่จะดำเนินคดีกับองค์กร อาชญากรรม โดยทำการศึกษาว่าหากมีการนำมาตรการต่อรองคำรับสารภาพมาใช้ในประเทศไทยจะมี ความเหมาะสมหรือไม่ และมีหลักการพื้นฐานของกฎหมายภายในที่จะรองรับมาตรการดังกล่าวมากน้อย เพียงใด โดยได้ทำการศึกษาถึงมาตรการต่อรองคำรับสารภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นแนวทางใน การพัฒนากฎหมายของประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ผลจากการศึกษาพบว่า การใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนพิเศษซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับองค์กรอาชญากรรมยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากมีปัญหาในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย โดยเทคนิคฯบางอย่างพบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การดักฟัง เนื่องจากองค์กรอาชญากรรมมีการดำเนินการที่ปกปิดความลับและเคร่งครัดในกฎระเบียบ จึงอาจไม่ยอมให้มีการใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างกัน หรือมีการใช้วิธีคิดค้นรหัสลับในการสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนี้ปัญหาในทางกฎหมายพบว่ามีข้อจำกัดในการใช้เทคนิคฯดังกล่าวโดยใช้ได้เฉพาะกับลักษณะความผิดบางประเภทที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้ได้เท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมกับลักษณะการกระทำความผิดขององค์กรอาชญากรรมที่มีมากมายหลายรูปแบบในลักษณะต่างๆ จากสภาพปัญหาการดำเนินคดีองค์กรอาชญากรรมในประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับองค์กรอาชญากรรม ผู้ทำวิทยานิพนธ์เห็นว่าควรที่จะมีการนำมาตรการ ต่อรองคำรับสารภาพมาใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลจากผู้ร่วมกระทำความผิดในองค์กรอาชญากรรม โดยเสนอให้มี การกำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยนำหลักกฎหมายเกี่ยวกับการต่อรองคำรับสารภาพของประเทศสหรัฐอเมริกามาพิจารณาประกอบ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายของประเทศไทยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับอนุสัญญาฯดังกล่าว