Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกำหนดค่าในเกณฑ์การใช้พลังงานรวมของอาคาร (Whole Building Energy) ตามกฎกระทรวงพลังงาน พ.ศ.2552 โดยในเกณฑ์นี้ ได้กำหนดชั่วโมงการใช้งานในอาคาร คือ 8,760 ชม. ซึ่งเท่ากับการใช้อาคาร 24 ชม./วัน แต่อาคารประเภทคอนโดมิเนียมมีลักษณะการใช้งานเช่นเดียวกับบ้านพักอาศัย ไม่ได้มีการใช้งานตลอดทั้งวัน โดยในงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษา ค่าการใช้พลังงานรวมของอาคารจากการสำรวจ คอนโดมิเนียมจำนวน 13 อาคาร และทำแบบสอบถามการใช้พลังงานในอาคารจากผู้พักอาศัยจำนวน 381 ชุดเพื่อนำมาสร้างอาคารอ้างอิง พร้อมทั้งทำการจำลองด้วยโปรแกรม VISUAL DOE 4.0เพื่อเปรียบเทียบ ค่าการใช้พลังงานในอาคารจริงจากการสำรวจ กับ ค่าการใช้พลังงานที่ผ่านเกณฑ์การใช้พลังงานรวมของอาคารตามกฎหมาย ผลจากการเปรียบเทียบค่าการใช้พลังงานจากการสำรวจอาคาร พบว่าใช้พลังงานรวมของอาคาร ผลจากการสำรวจได้ค่า EUI เท่ากับ 238.45 kWh/m²-yr ในขณะที่ค่า EUI ตามมาตรฐานกฎกระทรวงได้ค่าสูงถึง 257.06 kWh/m²/yr ส่วนผลการจำลองค่าไฟด้วยโปรแกรม VISUAL DOE 4.0ที่ได้ค่าการใช้พลังงานอาคารสำรวจเท่ากับ 274.77 kWh/m²-yr โดยพบข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างชั่วโมงการใช้งานที่กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงที่ 8,760 ชั่วโมง/ปี แต่จากการสำรวจ พบว่า จำนวนชั่วโมงในการใช้พลังงานในแต่ละส่วนนั้นจะไม่เท่ากัน ชั่วโมงการใช้เครื่องปรับอากาศมีเพียง 4,058 ชั่วโมง/ปี การใช้ไฟฟ้าส่องสว่าง เท่ากับ 2,728 ชั่วโมง/ปี การใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เท่ากับ 3,957 ชั่วโมง/ปี ส่วนนี้เป็นผลมาจากการกำหนดจำนวนชั่วโมงการใช้งานตามกฎกระทรวงที่สูงเกินจริงและควรได้รับการทบทวนเพื่อแก้ไขโดยเร็ว ดังนั้นงานวิจัยนี้ได้เสนอชั่วโมงการใช้งานที่ถูกต้องมากขึ้นในสมการการใช้พลังงานรวมของอาคาร และเมื่อปรับแก้สมการ จะทำให้ค่า EUI ของอาคารสำรวจลดลงไปที่ 102.65 kWh/m²-yr และอาคารตามกฎกระทรวงจะลดลงไปที่ 107.84 kWh/m²-yr ซึ่งพบใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าที่เก็บจากผู้พักอาศัยคอนโดมิเนียม ผลสรุปในงานวิจัยนี้เป็นการเสนอแนะให้มีการปรับแก้จำนวนชั่วโมงการใช้งานอาคารในสมการการใช้พลังงานรวมของอาคาร เพื่อปรับแก้ความถูกต้องของค่า EUI ที่ได้จาการการคำนวณ โดยทั้งนี้สมการการใช้พลังงานรวมของอาคารที่กำหนดขึ้นมาใหม่จากงานวิจัยนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงปฏิบัติจากการใช้สมการพลังงานรวมของอาคารในการประเมินการใช้พลังงานของอาคารเขียวในอนาคต